น อุจฺจาวจํ ปณฺฑิตา ทสฺสยนฺติ “บัณฑิตย่อมไม่แสดงอาการขึ้นลง”

น อุจฺจาวจํ ปณฺฑิตา ทสฺสยนฺติ.

[คำอ่าน : นะ, อุด-จา-วะ-จัง, ปัน-ทิ-ตา, ทัด-สะ-ยัน-ติ]

“บัณฑิตย่อมไม่แสดงอาการขึ้นลง”

(ขุ.ธ. 25/26)

ธรรมดาบัณฑิตย่อมเป็นผู้ที่มีจิตใจมั่นคงไม่หวั่นไหว เพราะบัณฑิตเป็นผู้มีปัญญา เข้าใจธรรมชาติทั้งปวงตามความเป็นจริง เข้าใจอย่างที่มันเป็น ไม่ได้เข้าใจอย่างที่ตัวเองอยากให้เป็น

โลกของเรานี้มีธรรม ๘ อย่างเป็นธรรมดา ที่เรียกว่า โลกธรรม ๘ ประการ คือ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข และทุกข์ บัณฑิตย่อมทราบชัดข้อนี้ตามความเป็นจริง และเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็เสื่อมไป เป็นธรรมดาอยู่อย่างนี้

เพราะฉะนั้น บัณฑิต จึงไม่หวั่นไหวโอนเอนไปตามโลกธรรมเหล่านั้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ ดีหรือไม่ดี น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ บัณฑิตก็จะไม่ยินดียินร้ายกับสิ่งเหล่านั้น นี่คือสภาพความมั่นคงแห่งจิตของบัณฑิต

เราทั้งหลายพึงฝึกตนให้เป็นบัณฑิต คือดำเนินตามวิถีแห่งบัณฑิต ฝึกจิตให้รู้แจ้งเห็นจริงสิ่งทั้งหลายทั้งปวงอย่างที่มันเป็น ฝึกจิตให้มั่นคงไม่หวั่นไหวเอนเอียงไปตามอารมณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้น ทั้งที่ดีและไม่ดี ดำรงชีวิตด้วยความรู้ความเข้าในธรรมชาติอย่างที่มันเป็น จึงจะได้ชื่อว่า ดำเนินตามวิถีแห่งบัณฑิต