ภาวนา 4 ประการ

ภาวนา แปลว่า การทำให้เจริญ การเจริญ การทำให้มีขึ้น การฝึกอบรม หรือการพัฒนา แบ่งตามสิ่งที่ควรพัฒนามี 4 ประการ คือ

  1. กายภาวนา การพัฒนากาย
  2. สีลภาวนา การอบรมศีล
  3. จิตตภาวนา การพัฒนาจิต
  4. ปัญญาภาวนา การพัฒนาปัญญา

1. กายภาวนา

กายภาวนา คือ การพัฒนากาย หรือ การฝึกอบรมกาย ให้รู้จักติดต่อเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายภายนอกทางอินทรีย์ทั้งห้าในทางที่ดี และปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นในทางที่เป็นคุณ ไม่ให้เกิดโทษหรืออกุศลกรรม ให้เกิดแต่คุณหรือกุศลกรรม พูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือใช้กายในทางที่ดี สร้างแต่คุณงามความดีนั่นเอง

เมื่อบุคคลพัฒนากายหรือฝึกอบรมกายให้ดี ใช้กายในการกระทำกุศลกรรมละเว้นอกุศลกรรม ใช้กายในการบำเพ็ญประโยชน์เว้นโทษทุกชนิด ย่อมจะได้รับประโยชน์จากการมีกาย ไม่ก่อทุกข์ก่อโทษให้แก่ตนเองและผู้อื่น เป็นการใช้กายที่คุ้มค่า เป็นไปเพื่อประโยชน์ในโลกนี้ ประโยชน์ในโลกหน้า และประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน

2. สีลภาวนา

สีลภาวนา คือ การอบรมศีล หรือ การพัฒนาความประพฤติ ได้แก่ การดำรงตนให้ตั้งอยู่ในระเบียบวินัย ไม่ประพฤติตนนอกกรอบของศีลธรรมและกฎหมายบ้านเมือง ไม่เบียดเบียนหรือก่อความเดือดร้อนเสียหายให้แก่ตนเองและสังคม ดำรงตนอยู่ในสังคมด้วยหลักคุณธรรมจริยธรรมและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน คือรักษาศีลให้บริสุทธิ์นั่นเอง

การอบรมศีลหรือรักษาศีลให้บริสุทธิ์อยู่เสมอ เป็นคุณสมบัติที่มนุษย์ทุกคนต้องมี เพราะศีลเป็นระเบียบแบบแผนอย่างหนึ่งที่ทำให้มนุษย์มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นสิ่งที่สร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นในสังคม ไม่ว่าระเป็นสังคมขนาดเล็กระดับครอบครัว หรือสังคมที่มีขนาดใหญ่ขึ้นไปตามลำดับ สังคมใดมีบุคคลผู้รักษาศีลสมบูรณ์อยู่มาก สังคมนั้นย่อมมีความสงบสุขมากตามไปด้วย

3. จิตตภาวนา

จิตตภาวนา คือ การพัฒนาจิต หรือ การฝึกอบรมจิตใจ เพื่อให้จิตใจเข้มแข็งมั่นคง เจริญงอกงามด้วยคุณธรรมทั้งหลาย เช่น มีเมตตากรุณา มีฉันทะ มีความเพียร มีขันติ เป็นต้น คือการฝึกให้จิตใจดำรงคงมั่นในคุณธรรมนั่นเอง

การพัฒนาจิตให้มีคุณธรรมนี้เป็นสิ่งจำเป็น เพราะคุณธรรมเป็นสิ่งที่ทำให้บุคคลมีความรู้สึกนึกคิดที่ดี มีความตระหนักรู้ในด้านที่ดี มีความประพฤติที่ดี มีการปฏิบัติต่อผู้อื่นในสังคมในด้านที่ดี มีคุณลักษณะที่เป็นคุณต่อตนเองและผู้อื่น และเป็นบุคลากรที่มีคุณค่าต่อสังคม ไม่ก่อปัญหาให้สังคม ทำให้การอยู่ร่วมกันในสังคมหมู่ใหญ่มีความสงบสุข

4. ปัญญาภาวนา

ปัญญาภาวนา คือ การพัฒนาปัญญา หรือ การฝึกอบรมปัญญา ให้เกิดความรู้ความเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง รู้เท่าทันและเห็นแจ้งโลกตามสภาวะที่มันเป็น ฝึกทำจิตใจให้บริสุทธิ์จากกิเลสตัณหาทั้งปวง แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยปัญญา การพัฒนาปัญญานั้น สามารถทำได้ด้วยการเจริญวิปัสสนาภาวนา

การพัฒนาปัญญาก็ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะผู้ไม่มีปัญญาก็เปรียบเสมือนกระบือตาบอดที่เดินอยู่ในป่า ตนเองเดินผิดทางก็ไม่รู้ เดินมุ่งหน้าไปสู่หุบเหวก็ไม่รู้ หรือเดินไปหาเสือร้ายก็ไม่รู้ เพราะความที่ตนเองตาบอดมองไม่เห็น คนขาดปัญญาก็เช่นกัน ย่อมไม่รู้ผิดรู้ชอบ ไม่รู้บาปบุญคุณโทษ ไม่รู้ประโยชน์หรือมิใช่ประโยชน์ ไม่รู้ว่าสิ่งใดควรทำสิ่งใดไม่ควรทำ เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมมีโอกาสที่จะกระทำความผิดสูง การดำรงชีวิต การอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมย่อมขาดประสิทธิภาพ มิหนำซ้ำยังจะก่อปัญหาให้ตนเองและผู้อื่นอยู่ร่ำไปเพราะความที่ขาดปัญญา

ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่บุคคลจะต้องหมั่นพัฒนาปัญญาอยู่เสมอ โดยทั่วไปได้แก่การศึกษาเล่าเรียน การสอบถามผู้รู้ เพื่อให้รู้ผิดชอบชั่วดี มีความรู้ในการดำเนินชีวิตตามคลองธรรม โดยทางธรรมได้แก่การเจริญวิปัสสนาภาวนา เพื่อให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งทั้งปวงและเห็นแจ้งโลกตามสภาวะที่มันเป็น เพื่อเป้าหมายคือความพ้นทุกข์ในที่สุด

การพัฒนาทั้ง 4 ด้านนี้ ควรทำให้ครบถ้วนสมบูรณ์ทุกประการ ถ้าขาดไปเสียอย่างหนึ่งอย่างใด คุณภาพชีวิตย่อมจะไม่สมบูรณ์เต็มร้อยเช่นกัน ต่อเมื่อพัฒนาครบทั้ง 4 ด้านอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง จึงจะได้ชื่อว่าเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของสังคม