ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ มีศีลดีงาม ฯลฯ

อปฺปมตฺตา สตีมนฺโต     สุสีลา โหถ ภิกฺขโว
สุสมาหิตสงฺกปฺปา     สจิตฺตมนุรกฺขถ.

[คำอ่าน]

อับ-ปะ-มัด-ตา, สะ-ตี-มัน-โต…..สุ-สี-ลา, โห-ถะ, พิก-ขะ-โว
สุ-สะ-มา-หิ-ตะ-สัง-กับ-ปา………สะ-จิด-ตะ-มะ-นุ-รัก-ขะ-ถะ

[คำแปล]

“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ มีศีลดีงาม ตั้งความดำริไว้ให้ดี คอยรักษาจิตใจของตน.”

(พุทฺธ) ที.มหา. 10/142.

ความประมาท เป็นหนทางแห่งความหายนะทุกประการ ถ้ามองในแง่ของการประกอบกิจการงานทางโลก ความประมาท เป็นสาเหตุแห่งความผิดพลาดนานาประการ ทำให้กิจการงานนั้น ๆ ล้มเหลว บกพร่อง ผิดพลาด ไม่สำเร็จดังที่ตั้งเป้าไว้

ถ้าพูดในแง่ที่ลึกซึ้งลงไปอีก คือมองในแง่ของธรรมะ ความประมาท หมายถึง ความลุ่มหลงมัวเมา คือมัวเมาในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มัวเมาในวัย ในอายุ ในชีวิต ทำให้หลงติดอยู่กับสิ่งที่ไม่เป็นสาระแก่นสาร ลุ่มหลงยินดีอยู่ในสิ่งที่เป็นสาเหตุให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดไม่จบสิ้น ทำให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย ไม่สามารถพ้นจากทุกข์ในวัฏสงสารนี้ได้

ดังนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงสอนให้สาวกทั้งหลายของพระองค์เป็นผู้ไม่ประมาท คือไม่ให้ลุ่มหลงมัวเมาในสิ่งลวงโลกทั้งหลายเหล่านั้น

นอกจากนี้ ยังทรงสอนให้มีสติ คือให้ดำรงตนอยู่ในสัมมาสติ ให้มีสติระลึกรู้กาย ในอิริยาบถทั้ง ๔ ให้มีสติกำหนดระลึกรู้เวทนา ทั้งทางกายและทางใจ ทั้งที่เป็นสุขและเป็นทุกข์ ทั้งที่เป็นอุเบกขาคือความรู้สึกเฉย ๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ ให้มีสติกำหนดระลึกรู้จิต คือถ้าจิตมีราคะ โทสะ โมหะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ให้มีสติกำหนดระลึกรู้ธรรม คือสัญญา สังขาร นิวรณ์ เป็นต้น เพื่อป้องกันบาปมิให้เกิดขึ้น

ทรงสอนให้ดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดี ประพฤติตนอยู่ในกรอบของพระธรรมวินัย รักษาศีลให้บริสุทธิ์หมดจด เพราะศีลที่บริสุทธิ์หมดจด จะเป็นพื้นฐานให้การปฏิบัติสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานบรรลุผลได้

และพระภิกษุสามเณรนั้น เป็นผู้ที่ต้องอาศัยผู้อื่นเลี้ยงชีพ คือต้องอาศัยการบำรุงด้วยปัจจัย ๔ จากศรัทธาสาธุชนทั้งหลาย การที่พระภิกษุสามเณรรักษาศีลให้บริสุทธิ์หมดจด ก็จะมีผลให้สาธุชนทั้งหลายเกิดความศรัทธาเลื่อมใส และยินดีถวายการอุปถัมภ์ อีกทั้งทำให้ทิกษิณาของสาธุชนเหล่านั้นมีผลมากอีกด้วย

พระพุทธองค์ทรงสอนให้สาวกของพระองค์ตั้งความดำริไว้ให้ดี คือให้ตั้งตนอยู่ในหลักของสัมมาสังกัปปะ มีความดำริชอบ คือดำริในอันที่จะออกจากกาม พิจารณาให้เห็นโทษของกาม แล้วไม่เกี่ยวข้องด้วยกาม เบื่อหน่ายคลายกำหนัดในกามทั้งหลาย ให้มีความดำริที่ไม่พยาบาทปองร้าย คือให้กำจัดความพยาบาทความขัดเคืองใจออกจากจิตใจให้ได้ ให้มีความดำริที่ไม่เบียดเบียน คือไม่ให้คิดเบียนเบียนผู้อื่น ให้ได้รับความลำบากเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางใจก็ตาม เพราะมิใช่วิสัยแห่งสมณะ

ทรงสอนให้รักษาจิตของตนให้ดี คือคอยสอดส่องคุ้มครองจิตของตน ไม่ให้ตกเป็นทาสของกิเลส ไม่ให้ถูกกิเลสครอบงำบงการ เพราะจิตที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจควบคุมของกิเลสนั้น ย่อมถูกชักจูงไปในทางอกุศล สร้างทุกข์สร้างโทษให้ตนเองและผู้อื่นอยู่ร่ำไป

พระพุทธองค์ทรงสอนเหล่าสาวกของพระองค์ ให้เป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ มีศีลที่ดีงาม มีความดำริที่ดี และคอยรักษาจิตของตน ก็เพื่อให้พ้นจากอำนาจของกิเลส สามารถทำลายกิเลสอาสวะทั้งปวงได้ กระทำที่สุดแห่งกองทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิงในที่สุด ด้วยประการฉะนี้.