อธิษฐานธรรม 4 ประการ

อธิษฐานธรรม คือ ธรรมเป็นที่มั่น ธรรมอันเป็นฐานที่มั่นคงของบุคคล หรือ ธรรมอันเป็นฐานตั้งมั่นเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามที่ต้องการ เป็นธรรมที่ควรใช้เป็นที่ประดิษฐานตน เพื่อให้สามารถยึดเอาผลสำเร็จสูงสุดอันเป็นที่หมายได้ โดยไม่เกิดความสำคัญตนผิด และไม่เกิดสิ่งมัวหมองหมักหมมทับถมตน มี 4 ประการ คือ

1. ปัญญา

ปัญญา ความรอบรู้ หมายถึง ความหยั่งรู้ในเหตุผล พิจารณาให้เข้าใจในสภาวะของสิ่งทั้งหลายจนเข้าถึงความจริง เป็นเครื่องกำจัดอวิชชาคือความไม่รู้ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตมืดมน เหมือนคนอยู่ในที่มืด ไม่รู้ทิศทาง มองอะไรไม่ออก หาทางออกไม่เจอ ปัญญาจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรสร้างให้มี ทั้งปัญญาทางโลกและปัญญาทางธรรม

2. สัจจะ

สัจจะ ความจริงใจ หมายถึง ความจริงใจต่อสิ่งที่ทำ พูด คิด คิดจะทำสิ่งใดในทางที่ถูกต้องชอบธรรม ก็มีความมุ่งมั่นแน่วแน่ ตั้งใจทำไปให้สำเร็จ ไม่ท้อแท้ ไม่ถอดใจ ไม่โลเลเหลาะแหละ ไม่เลิกล้มง่าย ๆ

3. จาคะ

จาคะ ความสละ หมายถึง การสละสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อความจริงใจ คือ เมื่อตั้งใจที่จะทำสิ่งใด โดยเฉพาะสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก ๆ มักจะมีอุปสรรคมากมายมาคอยขัดขวางอยู่เสมอ เช่น ความเกียจคร้าน ความกลัว ความเฉื่อยชา หรือกิเลสต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นมาเป็นตัวขวางความสำเร็จ เราต้องสละสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อความจริงใจนี้เสียให้ได้

4. อุปสมะ

อุปสมะ ความสงบ หมายถึง การรักษาใจใหสงบราบเรียบ ไม่ให้ฟุ้งซ่าน ไม่ให้กระวนกระวาย ไม่ให้กระสับกระส่ายหรือเป็นกังวลกับเรื่องราวต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นมาในระหว่างการพยายามทำกิจที่ยิ่งใหญ่ให้บรรลุผลสำเร็จอยู่นั้น ดังคำที่มีผู้กล่าวไว้ว่า คิดจะทำการใหญ่ ใจต้องนิ่ง คือต้องระงับโทษข้อขัดข้องหมองมัววุ่นวายทั้งหลายที่เกิดขึ้นให้ได้นั่นเอง

อธิษฐานธรรมทั้ง 4 ข้อนี้ พึงปฏิบัติดังนี้

  1. ปญฺญํ นปฺปมชฺเชยฺย ไม่พึงประมาทปัญญา คือ ไม่ละเลยการใช้ปัญญา
  2. สจฺจํ อนุรกฺเขยฺย พึงอนุรักษ์สัจจะ
  3. จาคํ อนุพฺรูเหยฺย พึงเพิ่มพูนจาคะ
  4. สนฺตึ สิกฺเขยฺย พึงศึกษาสันติ