ปริญญา 3 ประการ

ปริญญา แปลว่า การกำหนดรู้ การทำความเข้าใจโดยครบถ้วน เป็นข้อปฏิบัติในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ที่จะนำไปสู่ความรู้แจ้งในสภาวธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง ผู้เจริญวิปัสสนาต้องกำหนดรู้ขันธ์ 5 ตามหลักปริญญาทั้ง 3 ประการนี้ จึงจะสามารถบรรลุผลได้ ปริญญา 3 ประการนั้น คือ

1. ญาตปริญญา

ญาตปริญญา กำหนดรู้ด้วยให้เป็นสิ่งอันรู้แล้ว กำหนดรู้ขั้นรู้จัก เป็นการกำหนดรู้ตามสภาวลักษณะ คือ ทำความรู้จักจำเพาะตัวของสิ่งนั้นโดยตรง พอให้ชื่อว่าได้เป็นอันรู้จักสิ่งนั้นแล้ว เช่น รู้ว่า นี้คือเวทนา เวทนาคือสิ่งที่มีลักษณะเสวยอารมณ์ เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง หรือไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง เป็นต้น

2. ตีรณปริญญา

ตีรณปริญญา กำหนดรู้ด้วยการพิจารณา กำหนดรู้ขั้นพิจารณา กำหนดรู้โดยสามัญลักษณะ คือ การยกเอาขันธ์ 5 ที่กำหนดรู้ตามสภาวะลักษณะนั้นขึ้นพิจารณาให้เห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เช่น พิจารณาว่า เวทนาเป็นของไม่เที่ยง มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เป็นต้น

3. ปหานปริญญา

ปหานปริญญา กำหนดรู้ด้วยการละ กำหนดรู้ถึงขั้นละได้ เป็นการกำหนดรู้โดยตัดทางมิให้ฉันทราคะเกิดมีในสิ่งนั้น คือ รู้ว่าขันธ์ 5 นั้น เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วละนิจจสัญญาคือความสำคัญว่าเที่ยงเป็นต้นในขันธ์ 5 นั้นเสีย

ปริญญาทั้ง 3 ประการนี้ จัดเป็นโลกิยะ มีขันธ์ 5 เป็นอารมณ์ เป็นกิจในอริยสัจข้อที่ 1

ในทางปฏิบัติจัดเข้าในวิสุทธิ ข้อ 3 ถึงข้อ 6 คือ

ตั้งแต่นามรูปปริจเฉทญาณ ถึง ปัจจยปริคคหญาณ เป็นภูมิแห่งญาตปริญญา (ทิฏฐิวิสุทธิ และ กังขาวิตรณวิสุทธิ)

ตั้งแต่กลาปสัมมสนญาณ ถึง อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ เป็นภูมิแห่งตีรณปริญญา (มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ)

ตั้งแต่ภังคานุปัสสนาญาณ ขึ้นไป เป็นภูมิแห่งปหานปริญญา (ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ)