สุข 2 ประการ (หมวดที่ 1)

สุข แปลตรงตัวว่า ความสุข หรือ ความสบาย ความสำราญ มี 2 หมวด คือ หมวดความสุขที่เป็นเหตุ กับหมวดความสุขที่เป็นผล ในที่นี้จะกล่าวถึงหมวดความสุขที่เป็นผล 2 ประการ คือ

1. กายิกสุข

กายิกสุข คือ ความสุขที่ได้รับทางกาย หรือความสุขที่เกิดขึ้นทางกาย ความสุขที่รับรู้ได้ทางกาย หมายถึง การที่ร่างกายไม่มีทุกข์ ไม่มีโรคภัยใด ๆ เบียดเบียน มีความสะดวกสบายในอิริยาบถน้อยใหญ่ เช่น ยืน เดิน นั่ง นอน คล่องแคล่วกระฉับกระเฉง สะดวกสบาย เป็นต้น

2. เจตสิกสุข

เจตสิกสุข คือ ความสุขที่ได้รับทางใจ หรือ ความสุขที่เกิดขึ้นทางใจ หมายถึง อาการที่จิตใจไม่มีความทุกข์หรืออารมณ์ที่ขุ่นมัวมากระทบ ทำให้จิตเบิกบาน ไม่เศร้าหมอง เป็นจิตที่ประกอบไปด้วยปีติโสมนัส หมายเอาจิตที่ไม่มีกิเลสคือราคะ โทสะ และโมหะ มาเบียดเบียนครอบงำ

ชีวิตคนเรานั้นประกอบไปด้วยกายและจิต ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรทำให้เกิดมีความสุขทั้งทางกายและทางจิตใจ

ความสุขทางกายนั้นสามารถทำให้เกิดขึ้นมาได้ด้วยการบริหารร่างกายให้มีสุขภาพที่ดี ปราศจากโรคภัย เช่น การทานอาหารที่มีคุณค่า การออกกำลังกาย การบริหารร่างกายด้วยวิธีต่าง ๆ ให้สุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง คือดูแลสุขภาพกายให้ดีนั่นเอง เมื่อทำได้ดังนี้ กายิกสุข คือ ความสุขทางกายก็จะเกิดขึ้นได้

ความสุขทางใจนั้น สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ด้วยการดูแลสุขภาพใจ โดยการปฏิบัติธรรมชำระจิตใจให้ผ่องใสปราศจากราคะ โทสะ โมหะ การดูแลสุขภาพจิตใจนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพึ่งธรรมะ เพราะผู้ที่มีธรรมะคุ้มครองจิตใจ จะมีสุขภาพจิตที่แข็งแรง ไม่เป็นทุกข์เพราะอารมณ์ทางโลกง่าย ๆ หรืออารมณ์ภายนอกไม่สามารถทำลายสุขภาพจิตใจได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ เจตสิกสุข คือ ความสุขทางใจ ย่อมจะเกิดขึ้นมาได้

เมื่อสุขภาพกายดี สุขภาพจิตดี ชีวิตก็มีคุณภาพ