อบาย 4 ประเภท

อบาย แปลว่า เสื่อม หรือความปราศจากความเจริญ หมายเอา อบายภูมิ ซึ่งแปลว่า ภูมิหรือดินแดนอันปราศจากความเจริญ หมายถึง ภูมิที่มีแต่ความทุกข์ทรมาน เป็นที่เกิดของผู้ที่ทำบาปกรรมไว้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ มี 4 ประเภท คือ

1. นิรยะ

นิรยะ คือ สภาวะหรือสถานที่อันไม่มีความสุขความเจริญ ภาวะที่เร่าร้อนกระวนกระวาย เป็นที่เกิดของสัตว์ผู้กระทำกรรมอันหนัก แบ่งเป็นมหานรก 8 ขุม คือ

  • สัญชีวิมหานรก นรกอันเป็นไปกับด้วยชีวิต อยู่ใต้พื้นดินลึกลงไป 15,000 โยชน์ สัตว์ทั้งหลายที่เกิดในนรกขุมนี้ จะได้รับการทรมานอย่างแสนสาหัสจนขาดใจตาย แล้วก็กลับฟื้นขึ้นมารับความทุกข์ทรมานอีก เป็นอยู่อย่างนี้จนกว่าจะสิ้นกรรมชั่วที่ทำไว้
  • กาฬสุตตมหานรก นรกเส้นดำ อยู่ลึกลงไปต่อจากสัญชีวิมหานรก 15,000 โยชน์ สัตว์ที่เกิดในนรกขุมนี้จะถูกนายนิรยบาลเอาบรรทัดเหล็กแดงตีเป็นเส้นดำบนลำตัว แล้วตัดด้วยเลื่อย สับด้วยมีดหรือขวาน
  • สังฆาฏมหานรก นรกบดขยี้ อยู่ลึกลงไปต่อจากกาฬสุตตมหานรก 15,000 โยชน์สัตว์ที่เกิดในนรกขุมนี้จะถูกภูเขาไฟที่เต็มไปด้วยเหล็กแหลมกลิ้งมาบดขยี้ร่างกายจนแหลกละเอียด
  • โรรุวมหานรก นรกที่เต็มไปด้วยเสียงร้องไห้ อยู่ลึกลงไปต่อจากสังฆาฏมหานรก 15,000 โยชน์ สัตว์ที่เกิดในนรกขุมนี้จะถูกลงโทษโดยการให้นอนคว่ำหน้าลงในดอกบัวเหล็ก เป็นนรกที่ไฟลุกแดงโพลงอยู่ตลอดเวลา เมื่อถูกไฟนรกแผดเผาก็กรีดร้องด้วยความเจ็บปวด
  • มหาโรรุวมหานรก นรกที่เต็มไปด้วยเสียงร้องไห้ที่ดังยิ่งกว่าโรรุวมหานรก อยู่ลึกลงไปต่อจากโรรุวมหานรก 15,000 โยชน์ สัตว์ที่เกิดในนรกขุมนี้ จะถูกจับให้ยืนแข็งทื่อบนดอกบัวที่มีหนามคมกริบ มีไฟลุกโพลงแลบออกจากทวารทั้ง 9 ร่างกายถูกแผดเผาทั้งภายในและภายนอก
  • ตาปนมหานรก นรกที่แผดเผา อยู่ลึกลงไปต่อจากมหาโรรุวมหานรก 15,000 โยชน์ สัตว์ที่เกิดในนรกขุมนี้จะถูกลงโทษด้วยการเผาย่างบนปลายหลาวเหล็กใหญ่เท่าลำตาล เหมือนเนื้อที่ถูกย่างบนเหล็กปิ้ง
  • มหาตาปนมหานรก นรกที่แผดเผายิ่งกว่าตาปนมหานรก อยู่ลึกลงไปต่อจากตาปนมหานรก 15,000 โยชน์ สัตว์ที่เกิดในนรกขุมนี้ จะถูกลงโทษด้วยการย่างร่างกายให้เร่าร้อนเหมือนในตาปนมหานรก แต่จะได้รับความทุกข์ทรมานยิ่งกว่าหลายเท่า
  • อเวจีมหานรก นรกที่ไม่ผ่อนหนักเบา อยู่ลึกลงไปต่อจากมหาตาปนมหานรก 15,000 โยชน์ นรกขุมนี้จะมีเปลวไฟนรกเผาไหม้อยู่ตลอดเวลา ไม่มีการผ่อนปรน สัตว์ที่เกิดในนรกขุมนี้จะได้รับความทรมานยิ่งกว่านรกขุมอื่น ๆ

2. ติรัจฉานโยนิ

ติรัจฉานโยนิ กำเนิดดิรัจฉาน หรือภพภูมิแห่งสัตว์ดิรัจฉาน เป็นสถานที่เกิดของผู้ที่มากไปด้วยโมหะ คือมีความเห็นผิด หลงผิด งมงาย แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ

  • อปทติรัจฉาน สัตว์ดิรัจฉานประเภทที่ไม่มีขา เช่น งู ไส้เดือน เป็นต้น
  • ทวิปทติรัจฉาน สัตว์ดิรัจฉานประเภทที่มี 2 ขา เช่น เป็ด ไก่ นก เป็นต้น
  • จตุปทติรัจฉาน สัตว์ดิรัจฉานประเภทที่มี 4 ขา เช่น วัว ควาย สุนัข แมว เป็นต้น
  • พหุปทติรัจฉาน สัตว์ดิรัจฉานประเภทที่มีขามาก เช่น ตะขาบ กิ้งกือ เป็นต้น

สัตว์ดิรัจฉาน จะมีความยินดีอยู่ในเหตุ 3 ประการ คือ การกิน การนอน และการสืบพันธุ์

3. ปิตติวิสัย

ปิตติวิสัย ภูมิอันเป็นที่อยู่ของเปรต เป็นสถานที่เกิดของผู้ที่ทำอกุศลกรรมต่าง ๆ ไว้มาก แต่ไม่หนักพอที่จะไปเกิดในนรก หรือผู้ที่ทำกรรมหนักมาก ๆ ไปเกิดในนรกแล้ว และพ้นจากนรกมาแล้ว แต่เศษกรรมยังเหลืออยู่ และเศษกรรมตัวนั้นส่งผลให้เกิดเป็นเปรต กรรมที่ส่งผลให้เกิดเป็นเปรตส่วนมากจะเป็นกรรมที่เป็นไปด้วยอำนาจของโลภะ

เปรต แบ่งเป็น 13 ประเภท คือ

  • วิชชาตเปรต เปรตที่ดีกว่าเปรตพวกอื่น มีฤทธิ์มาก ซึ่งเหตุที่ทำให้มีฤทธิ์มากนั้นเป็นผลมาจากการเรียน แต่ไม่ได้ปฏิบัติให้ได้ผล
  • วันตาสาเปรต เปรตที่เที่ยวกินน้ำลาย เสมหะ อาเจียน เป็นอาหาร ด้วยความหิวโหย
  • กุณปขาทาเปรต เปรตที่กินซากศพเป็นอาหาร
  • คูถขาทาเปรต เปรตที่กินอุจจาระเป็นอาหาร
  • อัคคิชาลมุขาเปรต เปรตที่มีไฟลุกอยู่ในปากตลอดเวลา
  • สูจิมุขาเปรต เปรตที่มีมือเท้าใหญ่ ท้องใหญ่เท่าภูเขา แต่มีปากเท่ารูเข็ม
  • ตัณหาชิตาเปรต เปรตที่หิวข้าวหิวน้ำเป็นกำลัง
  • นิชฌามกเปรต เปรตที่มีตัวใหญ่ดำทะมึนเหมือนต้นเสา เคลื่อนไหวไปมาไม่ได้ ยืนคร่ำครวญร้องไห้เพราะความหิวโหย
  • สัพพังคเปรต เปรตที่มีเล็บมือเล็บเท้ายาว งอเหมือนเบ็ด คมเหมือนมีด ขีดข่วนร่างกายเอาเลือดเนื้อของตนออกมากินเป็นอาหาร
  • ปัพพตเปรต เปรตมีร่างกายโตเท่าภูเขา ถูกไฟลุกท่วมร่างกาย ดิ้นทุรนทุรายไปมาเหมือนขอนไม้
  • อชคราทิเปรต เปรตจำพวกที่มีร่างกายเหมือนสัตว์ดิรัจฉาน เช่น มีร่างกายเหมือนงูเหลือมเป็นต้น
  • มหิทธิกเปรต เปรตจำพวกนี้มีฤทธิ์มาก เหาะไปมาได้ แต่มีความหิวโหยอยู่ตลอดเวลา เที่ยวเสาะแสวงหาสิ่งโสโครกต่าง ๆ กินเป็นอาหาร
  • เวมานิกเปรต เปรตจำพวกนี้จะเสวยวิปากกรรมเฉพาะตอนกลางวัน แต่กลางคืนจะเสวยสุขในวิมานของตน

4. อสุรกาย

อสุรกาย ภูมิอันเป็นที่อยู่ของเหล่าอมนุษย์ที่ปราศจากความแช่มชื่นรื่นเริง เป็นภูมิที่เต็มไปด้วยความชั่วร้าย เป็นภูมิที่ไม่น่าอยู่ เพราะเต็มไปด้วยพวกอสูรที่มีรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัว สาเหตุที่ทำให้เกิดเป็นอสุรกายนั้น ก็เพราะอำนาจของความโลภเป็นส่วนใหญ่ ประกอบกับอกุศลกรรมอย่างอื่นด้วย

การเสวยวิบากกรรมของพวกอสุรกายจะคล้าย ๆ กับพวกเปรต แตกต่างกันที่พวกเปรตจะมีความทุกข์ทรมานเพราะหิวอาหาร ส่วนพวกอสุรกายจะมีความทุกข์ทรมานเพราะกระหายน้ำ จะมีอาการเหมือนตกอยู่ในทะเลทราย เมื่อพบหนองน้ำจะวิ่งเข้าหาเพื่อดื่มกิน แต่ครั้นจะดื่มน้ำ น้ำนั้นก็กลายเป็นหินเป็นทรายไป เพราะวิบากกรรมของอสุรกายเหล่านั้น ทำให้ต้องทุกข์ทรมานต่อไป