นิมิต 3 ประการ

นิมิต แปลว่า เครื่องหมาย เครื่องกำหนด หมายถึง เครื่องหมายสำหรับให้จิตกำหนดในการเจริญกรรมฐาน หรือภาพที่เห็นในใจอันเป็นตัวแทนของสิ่งที่ใช้เป็นอารมณ์กรรมฐาน เพื่อเป็นอุบายผูกจิตให้สงบตั้งมั่น แบ่งเป็น 3 ระดับ ตามความละเอียดของสมาธิ คือ

1. ปริกัมมนิมิต

ปริกัมมนิมิต หรือ บริกรรมนิมิต คือ นิมิตแห่งบริกรรม นิมิตตระเตรียม นิมิตแรกเริ่ม หรือนิมิตที่ใช้บริกรรม หมายถึง สิ่งใดก็ตามที่กำหนดเป็นอารมณ์ในการเจริญกรรมฐาน เพื่อผูกจิตไม่ให้ฟุ้งซ่าน เช่น ดวงกสิณ ลมหายใจเข้าออก เป็นต้น อารมณ์ที่ใช้บริกรรมนั้นแหละ เรียกว่า ปริกัมมนิมิต

2. อุคคหนิมิต

อุคคหนิมิต คือ นิมิตที่ใจเรียน หรือนิมิตติดตา ได้แก่ ปริกัมมนิมิตหรืออารมณ์ที่ใช้บริกรรมนั่นแหละ ที่เพ่งหรือนึกกำหนดซ้ำ ๆ จนเห็นแม่นในใจ ปรากฏเป็นภาพชัดแจ้งในใจดุจเห็นชัดด้วยตา เช่น ดวงกสิณที่เพ่งจนติดตา หลับตาแล้วก็ยังเห็น เป็นต้น ภาพที่ปรากฏชัดในใจเช่นนี้ เรียกว่า อุคคหนิมิต

3. ปฏิภาคนิมิต

ปฏิภาคนิมิต คือ นิมิตเสมือน หรือ นิมิตเทียบเคียง ได้แก่ นิมิตที่เป็นภาพเหมือนของอุคคหนิมิตนั้น แต่เป็นสิ่งที่เกิดจากสัญญา เป็นเพียงอาการที่ปรากฏแก่ผู้ได้สมาธิ เป็นนิมิตที่แน่วแน่แนบสนิทในใจ จนสามารถกำหนดย่อหรือขยายได้ตามต้องการ นิมิตที่แนบสนิทในใจเช่นนี้ เรียกว่า ปฏิภาคนิมิต

ในนิมิตทั้ง 3 อย่างนั้น ปริกัมมนิมิตและอุคคหนิมิต ได้ในอารมณ์กรรมฐาน 40 คือ กสิน 10 อสุภะ 10 อนุสสติ 10 อัปปมัญญา 4 จตุธาตุววัตถาน 1 อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1 และ อรูป 4 ส่วนปฏิภาคนิมิต จะเกิดขึ้นได้ในอารมณ์กรรมฐาน 22 คือ กสิณ 10 อสุภะ 10 กายคตาสติ 1 และ อานาปานสติ 1