สิ่งที่ไม่ควรประมาท 4 ประการ

ความประมาท หมายถึง ความลุ่มหลงมัวเมา ก็ได้ ความขาดสติ, ความเผอเรอ ก็ได้ ความไม่เอาใจใส่ ไม่ให้ความสำคัญ ก็ได้ ความประมาทในที่นี้ หมายเอาการไม่เอาใจใส่ หรือการไม่ให้ความสำคัญ ดังนั้น สิ่งที่ไม่ควรประมาท จึงหมายถึง สิ่งที่ไม่ควรละเลย หรือสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ มี 4 ประการ คือ

1. ไม่ควรประมาทในการละกายทุจริต ประพฤติกายสุจริต

ควรเอาใจใส่ในการพยายามละกายทุจริต อันเป็นการประพฤติชั่วทางกายทั้ง 3 ประการ ได้แก่

และควรเอาในใส่ในการประพฤติกายสุจริต อันเป็นการประพฤติดีทางกายทั้ง 3 ประการ ได้แก่

2. ไม่ควรประมาทในการละวจีทุจริต ประพฤติวจีสุจริต

ควรเอาใจใส่ในการพยายามละวจีทุจริต อันเป็นการประพฤติชั่วทางวาจา 4 ประการ ได้แก่

  • มุสาวาท คือ การพูดปด การโกหก
  • ปิสุณวาจา คือ การพูดส่อเสียด พูดยุยงให้คนอื่นแตกสามัคคีกัน
  • ผรุสวาจา คือ การพูดคำหยาบคาย
  • สัมผัปปลาป คือ การพูดเพ้อเจ้อ

และควรเอาใจใส่ในการบำเพ็ญวจีสุจริต อันเป็นการประพฤติดีทางวาจา 4 ประการ ได้แก่

  • มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากการพูดเท็จ
  • ปิสุณาย วาจาย เวรมณี เว้นจากการพูดส่อเสียด
  • ผรุสาย วาจาย เวรมณี เว้นจากการพูดคำหยาบ
  • สัมผัปปลาปา เวรมณี เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

3. ไม่ควรประมาทในการละมโนทุจริต ประพฤติมโนสุจริต

ควรเอาใจใส่ในการพยายามละมโนทุจริต อันเป็นการประพฤติชั่วทางใจ 3 ประการ ได้แก่

  • อภิชฌา คือ ความโลภอยากได้ของคนอื่นมาเป็นของตนเองในทางที่ไม่ถูกต้อง
  • พยาบาท คือ ความคิดปองร้ายคนอื่น
  • มิจฉาทิฏฐิ คือ ความเห็นที่ผิดจากทำนองคลองธรรม

และควรเอาใจใส่ในการบำเพ็ญมโนสุจริต อันเป็นความประพฤติดีทางใจ 3 ประการ ได้แก่

  • อนภิชฌา ความไม่โลภอยากได้ของคนอื่น
  • อพยาบาท ความไม่คิดปองร้ายคนอื่น
  • สัมมาทิฏฐิ ความเห็นที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม

4. ไม่ควรประมาทในการละความเห็นผิด ทำความเห็นให้ถูก

ไม่ควรประมาทในการละความเห็นผิด ทำความเห็นให้ถูก คือ

  • พยายามพิจารณาให้เห็นร่างกายเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตาอยู่เสมอ
  • พยายามพิจารณาทรัพย์สิ่งของทั้งปวงให้เห็นเป็นเพียงสิ่งสมมติอยู่เสมอ
  • พยายามพิจารณาขันธ์ 5 ให้เห็นเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตาอยู่เสมอ

อีกอย่างหนึ่ง ไม่ควรประมาทในการระวังจิต 4 ด้าน ดังต่อไปนี้

1. ไม่ควรประมาทในการระวังจิตไม่ให้กำหนัดในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด

ให้คอยระวังจิต ไม่ให้เกิดความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ พิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงว่าสิ่งเหล่านั้น ล้วนมีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นมาแล้วล้วนต้องแตกสลายไปในที่สุด ไม่ควรยินดีพอใจในสิ่งเหล่านั้น

2. ไม่ควรประมาทในการระวังจิตไม่ให้ขัดเคืองในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง

ให้คอยระวังจิต ไม่ให้เกิดความขัดเคืองในรูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ อันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าพอใจ พิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงว่าสิ่งเหล่านั้น ล้วนมีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นมาแล้วล้วนต้องแตกสลายไปในที่สุด ไม่ควรขัดเคืองใจในสิ่งเหล่านั้น

3. ไม่ควรประมาทในการระวังจิตไม่ให้หลงในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความหลง

ให้คอยระวังจิต ไม่ให้เกิดความหลงในรูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ ทั้งที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจ พิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงว่าสิ่งเหล่านั้น ล้วนมีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นมาแล้วล้วนต้องแตกสลายไปในที่สุด ไม่ควรหลงในสิ่งเหล่านั้น

4. ไม่ควรประมาทในการระวังจิตไม่ให้มัวเมาในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา

ให้คอยระวังจิต ไม่ให้เกิดความมัวเมาในชาติตระกูล ในวัย ในอายุ ในอำนาจ ในสรรเสริญ เป็นต้น เพราะสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น ก็ล้วนตกอยู่ภายใต้กฎพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่มีสาระแก่นสาร ไม่ควรยึดถือเป็นอารมณ์ให้เกิดความมัวเมา