ลักษณะของขันติ 4 ประการ

ขันติ คือ ความอดทน หรือ ความอดกลั้น หมายถึง ความมีใจหนักแน่น ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ปัญหา หรือความยากลำบากต่าง ๆ ที่เข้ามาขัดขวางทางแห่งความสำเร็จ ลักษณะของขันติ มี 4 อย่าง คือ

1. อดทนต่อความลำบากตรากตรำ

อดทนต่อความลำบากตรากตรำ คือ ไม่ว่าจะเหนื่อยยากลำบากแค่ไหนในการทำงานหรือสร้างคุณงามความดีใด ๆ ก็ตาม เช่น ในการศึกษาเล่าเรียน ในการประกอบอาชีพ ในการสร้างบุญสร้างกุศล เป็นต้น ถึงจะมีความเหน็ดเหนื่อย เราก็อดทน ก็ไม่ย่อท้อ

ความอดทนต่อความลำบากตรากตรำ เป็นคุณสมบัติที่มนุษย์ทุกคนจำเป็นจะต้องมี เพราะการดำรงชีวิตให้อยู่รอดบนโลกใบนี้ เต็มไปด้วยความลำบาก มากบ้างน้อยบ้าง แล้วแต่สภาพแวดล้อมที่บุคคลนั้น ๆ อยู่ การศึกษาเล่าเรียน การทำกิจการต่าง ๆ หรือแม้แต่การบำเพ็ญเพียรเพื่อความพ้นทุกข์ จะต้องพบเจอกับความลำบากตรากตรำด้วยกันทั้งนั้น ต้องมีความอดทนต่อความลำบากตรากตรำที่ประสบพบเจอ จึงจะสามารถฝ่าฟันให้ผ่านพ้นไปได้

2. อดทนต่อทุกขเวทนา

อดทนต่อทุกขเวทนา ก็คือ อดทนต่อความเจ็บปวด ความรู้สึกทางกายและทางใจทั้งหลายที่เป็นไปเพื่อความไม่สบายกายไม่สบายใจ เช่น ความเจ็บปวด บาดแผล โรคภัยไข้เจ็บ เป็นต้น

สัตว์โลกทั้งปวงย่อมมีเวทนาคือความรู้สึกหรือการเสวยอารมณ์ด้วยกันทั้งสิ้น ถ้าเป็นสุขเวทนาอันเป็นความรู้สึกที่สุขสบายก็แล้วไป แต่ถ้าเป็นทุกขเวทนาคือความรู้สึกหรือการเสวยอารมณ์อันไม่เป็นไปเพื่อความสบายแล้วไซร้ ย่อมจะก่อความหงุดหงิดรำคาญหรือสร้างความทุกข์ให้บุคคลนั้น ๆ จนทำให้ท้อแท้ถอดใจในการสร้างคุณงามความดีหรือการประกอบกิจทั้งหลายได้ ความอดทนต่อทุกขเวทนาจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จำเป็นจะต้องมี เพื่อไม่ให้ท้อแท้ถอดใจ และมุมานะบากบั่นกัดฟันสู้ทนในการประกอบกิจการหรือการสร้างบารมีต่อไปจนกว่าจะประสบความสำเร็จได้

3. อดทนต่อความเจ็บใจ

อดทนต่อความเจ็บใจ คือ ความอดทนต่ออารมณ์ทางใจที่สร้างความหงุดหงิดรำคาญทำให้ร้อนรุ่มกระวนกระวาย อันเกิดจากบุคคลหรืออารมณ์ภายนอกมากระตุ้นให้เกิดขึ้น

บางทีอาจมีใครมาทำอะไรให้เราต้องเจ็บใจ ไม่พอใจ เช่น มีคนมาด่า มาพูดจาเสียดสี สาปแช่ง เป็นต้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นจะทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้น เราต้องพยายามข่มใจอดทนต่อความเจ็บใจหรือความไม่พอใจนั้นให้ได้ เพื่อรักษาอาการของเราให้อยู่ในสภาวะที่ปกติ ไม่เป็นไปตามอำนาจของความเจ็บใจดังกล่าว

หากอดทนต่อความเจ็บใจไม่ได้เสียแล้ว ความเจ็บใจนั้นจะเป็นสาเหตุสร้างความฉิบหายมิใช่ประโยชน์ให้แก่เราได้ไม่น้อย คือมันจะสั่งการให้เรากระทำกรรมอันเป็นทุจริตอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเป็นไปตามอำนาจของความเจ็บใจ และการกระทำนั้นเอง จะเป็นสิ่งที่สร้างทุกข์สร้างโทษให้แก่ตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของแห่งการกระทำนั้น

4. อดทนต่ออำนาจกิเลส

อดทนต่ออำนาจกิเลส คือ ความอดทนต่อกิเลสทั้งหลายที่เกิดขึ้นครอบงำจิตใจในแต่ละขณะและคอยบงการให้เราทำกรรมต่าง ๆ ตามอำนาจของมัน

กิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ เมื่อเกิดขึ้นมาครอบงำจิตใจเราแล้ว ย่อมทำให้จิตใจเราเศร้าหมอง เป็นไปตามอำนาจของมัน

โลภะ เกิดขึ้นมาแล้วก็ทำให้อยากได้ แล้วแสวงหามาในทางที่ทุจริต

โทสะ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ทำให้โกรธ ทำให้มีอารมณ์ฉุนเฉียว ก่อให้เกิดการฆ่ากัน ทำร้ายกัน เบียดเบียนกันขึ้น

โมหะ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ก็ทำให้หลงผิด เห็นถูกเป็นผิด เห็นผิดเป็นถูก ขาดจิตสำนึก ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ

หากอดทนต่ออำนาจของกิเลสเหล่านี้ไม่ได้เสียแล้ว ย่อมจะถูกมันครอบงำและบงการให้กระทำกรรมอันชั่วช้าลามกนานาประการ สุดท้าย ผู้รับผลแห่งการกระทำนั้นกลับไม่ใช่กิเลสซึ่งเป็นตัวบงการ แต่เป็นตัวเราเองผู้ซึ่งเป็นเจ้าของแห่งการกระทำนั้น ๆ

ดังนั้น ต้องอดทนต่ออำนาจกิเลสให้ได้ เพื่อไม่ให้ตกเป็นทาสของมัน และไม่ให้ถูกมันบงการชักจูงจิตใจให้หลงไปกระทำกรรมชั่วช้าลามกต่าง ๆ

ขันติคือความอดทนทั้ง 4 ลักษณะนี้ เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิต เพราะเมื่อขาดขันติคือความอดทนเสียแล้ว การดำรงชีวิตก็เป็นไปได้ยาก การประกอบกิจการงานต่าง ๆ ก็เป็นไปได้ยาก การบำเพ็ญสมณธรรมเพื่อกระทำที่สุดแห่งทุกข์ยิ่งเป็นไปไม่ได้เสียเลย