อปัสเสนธรรม 4 ประการ

อปัสเสนะ หรือ อปัสเสนธรรม คือ ธรรมดุจพนักพิง ธรรมเป็นที่พึ่งพิงอาศัย หมายถึง ธรรมที่จำเป็นต้องอาศัยเพื่อป้องกันไม่ให้อกุศลเกิดขึ้น ทำลายอกุศลที่มีอยู่ให้เสื่อมสิ้นไป สนับสนุนให้กุศลเกิดขึ้น และรักษาพอกพูนกุศลที่มีอยู่แล้วให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป มี 4 ประการ คือ

1. สงฺขาเยกํ ปฏิเสวติ พิจารณาแล้วเสพของอย่างหนึ่ง

พิจารณาแล้วเสพของอย่างหนึ่ง หมายถึง การบริโภคปัจจัย 4 การคบหาบุคคล และการเลือกธรรมมาปฏิบัติ กล่าวคือ

การบริโภคใช้สอยปัจจัยสี่ อันประกอบด้วย จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานเภสัช ควรพิจารณาให้ดีก่อนแล้วจึงบริโภคใช้สอย เพื่อให้เกิดประโยชน์ พอยังอัตภาพให้เป็นไป ไม่ใช่เพื่อประดับตกแต่ง เพื่อความบันเทิง หรือเพื่อสนองกิเลส เป็นต้น

การคบหาบุคคล ก็พิจารณาให้ดีก่อนจึงคบหา เลือกคบหาเสวนาเฉพาะบุคคลผู้มีปัญญา เป็นบัณฑิต เป็นกัลยาณมิตร เว้นบุคคลผู้เป็นพาลเสีย

การเลือกธรรมมาปฏิบัติ ก็พิจารณาเลือกธรรมที่เหมาะแก่ตนเอง เป็นสัปปายะแก่ตนเอง ถูกกับอัธยาศัยหรือจริตของตนเอง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

2. สงฺขาเยกํ อธิวาเสติ พิจารณาแล้วอดกลั้นของอย่างหนึ่ง

พิจารณาแล้วอดกลั้นของอย่างหนึ่ง คือ เมื่อประสบกับอนิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่ไม่น่าพอใจทั้งหลาย เช่น ความหนาว ความร้อน ทุกขเวทนา คำด่าต่าง ๆ อันจะทำให้จิตใจขุ่นมัว ก็ต้องรู้จักพิจารณาอดกลั้นต่ออารมณ์น้้น ๆ เสียให้ได้ ไม่ให้มันมีอำนาจเหนืออารมณ์และความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง มีสติปัญญาจัดการกับอารมณ์เหล่านั้นอย่างชาญฉลาด

3. สงฺขาเยกํ ปริวชฺเชติ พิจารณาแล้วเว้นของอย่างหนึ่ง

พิจารณาแล้วเว้นของอย่างหนึ่ง คือ สิ่งใดที่มีโทษ ก่ออันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ เช่น อบายมุข คนพาล หรือสิ่งไม่ดีทั้งหลายทั้งปวงบรรดามี ต้องใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นโทษของสิ่งเหล่านั้นแล้วงดเว้นเสีย เช่น พิจารณาให้เห็นโทษของการคบคนพาล แล้วเว้นการคบคนพาลเสีย พิจารณาให้เห็นโทษของอบายมุข แล้วไม่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

4. สงฺขาเยกํ ปฏิวิโนเทติ พิจารณาแล้วบรรเทาของอย่างหนึ่ง

พิจารณาแล้วบรรเทาของอย่างหนึ่ง คือ สิ่งที่มีโทษ ก่ออันตราย เช่น อกุศลวิตก คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก และอารมณ์ชั่วร้ายทั้งหลายที่เกิดมีขึ้นในตน พึงใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นโทษของสิ่งเหล่านั้น แล้วหาวิธีแก้ไข ปรับปรุง บรรเทา และกำจัดเสียให้สิ้นจากตน

อปัสเสนธรรม 4 ประการนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อุปนิสัย 4 (ธรรมเป็นที่พึ่งพิง หรือธรรมที่ช่วยอุดหนุน)

เมื่อรู้จักพิจารณาปฏิบัติต่อสิ่งต่าง ๆ ให้ถูกต้องด้วยปัญญาตามหลักอปัสเสนะ หรืออุปนิสัย 4 อย่างนี้ ย่อมเป็นเหตุให้อกุศลที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็เสื่อมสิ้นไป และกุศลที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็เจริญยิ่งขึ้นไป