ทุกข์ 2 ประการ (หมวดที่ 2)

ทุกข์ แปลทับศัพท์ว่า ความทุกข์ หมายถึง สภาพที่ทนได้ยาก ความไม่สบาย แบ่งเป็น 2 หมวด คือ หมวดความทุกข์ที่เป็นเหตุ และหมวดความทุกข์ที่เป็นผล ในที่นี้จะกล่าวถึงหมวดความทุกข์ที่เป็นเหตุ 2 ประการ ได้แก่

1. สามิสทุกข์

สามิสทุกข์ คือ ทุกข์อิงอามิส หมายถึง ทุกข์ที่อิงกามคุณ 5 คือทุกข์ที่เกิดจากการประสบกับอารมณ์คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ เช่น

เห็นรูปที่ไม่สวยไม่งามแล้วไม่พอใจ เห็นคนที่เป็นศัสตรูคู่อาฆาตแล้วเกิดความโกรธความคับแค้นใจ อย่างนี้ก็เป็นทุกข์

ได้ยินเสียงที่ไม่อยากได้ยิน ได้ยินคำด่าจากคนอื่น แล้วไม่พอใจ อย่างนี้ก็เป็นทุกข์

ได้กลิ่นที่ไม่น่าพอใจ เช่น ได้กลิ่นเหม็นเน่าของขยะ ได้กลิ่นเหม็นเปรี้ยวจากคนรอบข้าง แล้วไม่ชอบใจ อย่างนี้ก็เป็นทุกข์

ได้กินอาหารที่ไม่อร่อย รสชาติไม่ถูกปาก แล้วไม่พอใจ อย่างนี้ก็เป็นทุกข์

ได้รับสัมผัสที่ไม่น่าปรารถนา เช่น สวมใส่เสื้อผ้าเนื้อหยาบ ทำให้ระคายผิว แล้วไม่พอใจ อย่างนี้ก็เป็นทุกข์

2. นิรามิสทุกข์

นิรามิสทุกข์ คือ ทุกข์ที่ไม่อิงอามิส หมายถึง ทุกข์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกามคุณห้า ไม่เกี่ยวข้องกับความยึดมั่นถือมั่น แต่เป็นความทุกข์ที่มีอยู่ประจำสังขาร ได้แก่ ชาติทุกข์ ทุกข์ที่เกิดจากการเกิด ชราทุกข์ ทุกข์ที่เกิดจากความแก่ พยาธิทุกข์ ทุกข์ที่เกิดจากความเจ็บไข้ได้ป่วย และมรณทุกข์ ทุกข์ที่เกิดจากความตาย ซึ่งเป็นความทุกข์ที่เกิดจากความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสังขาร

สามิสทุกข์ สามารถบรรเทาได้ด้วยการฝึกจิตไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นในกามคุณทั้ง 5 พิจารณาสรรพสิ่งให้เห็นตามความเป็นจริง วางใจเป็นกลาง ๆ ไม่ให้เอนเอียงไปในฝักฝ่ายที่เป็นความยินดีหรือยินร้าย ก็จะสามารถบรรเทาสามิสทุกข์นี้ได้

นิรามิสทุกข์ สามารถพ้นได้ด้วยการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจนสามารถบรรลุพระนิพพาน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเกิดอีก เพราะการเกิดเป็นสาเหตุเบื้องต้นแห่งความทุกข์ทั้งปวง ถ้าไม่ต้องเกิด ก็ไม่ต้องประสบกับทุกข์อื่น ๆ ทั้งปวงอีก ซึ่งมีหนทางเดียวที่จะไม่ต้องเกิดอีก นั่นก็คือ ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจนสามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ นอกจากวิธีนี้แล้วก็ไม่มีวิธีอื่น.