ทิฏฐิ 3 ประการ

ทิฏฐิ คือ ความเห็น ในที่นี้หมายเอามิจฉาทิฏฐิคือความเห็นผิด ได้แก่ความเห็นที่ขัดกับหลักพุทธศาสนา ความเห็นที่ตรงกันข้ามกับความเป็นจริง เป็นความเห็นที่ควรละเสีย มี 3 ประการ คือ

1. อกิริยทิฏฐิ

อกิริยทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่เป็นอันทำ ความเห็นว่าการกระทำไม่มีผล บุคคลที่มีทิฏฐิเช่นนี้ จะมีความเห็นว่า การกระทำทั้งหลายไม่ว่าดีหรือชั่วก็ตาม ไม่มีผลแก่ผู้กระทำ ผู้ทำไม่ต้องรับผลของการกระทำนั้น

ทิฏฐิข้อนี้ขัดกับหลักพุทธศาสนา เพราะพุทธศาสนาสอนเรื่องกฎแห่งกรรม บุคคลกระทำกรรมใด ๆ ลงไป จะดีหรือชั่วก็ตาม จะต้องได้รับผลแห่งกรรมนั้นแน่นอน

2. อเหตุกทิฏฐิ

อเหตุกทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่มีเหตุ ความเห็นว่าหาเหตุมิได้ บุคคลที่มีความเห็นเช่นนี้ จะเห็นว่าสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่เป็นอยู่ ล้วนแต่เกิดขึ้นมาเอง เป็นขึ้นมาเอง ไม่มีเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิด คนจะสุขก็สุขเอง คนจะทุกข์ก็ทุกข์เอง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเหตุหรือการกระทำใด ๆ

ทิฏฐิข้อนี้ขัดกับหลักพุทธศาสนา เพราะขัดกับหลักอิทัปปัจจยตา พุทธศาสนาสอนว่า สิ่งทั้งปวงล้วนอาศัยกันเกิดขึ้น เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้ดับสิ่งนี้จึงดับ ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัยทำให้เกิด

3. นัตถิกทิฏฐิ

นัตถิกทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่มี คนที่มีความเห็นเช่นนี้ จะเห็นว่าการกระทำไม่มี ผลของการกระทำก็ไม่มี ไม่มีการกระทำหรือสภาวะที่จะกำหนดเอาเป็นหลักได้ เป็นความเห็นที่ปฏิเสธเหตุและผล เห็นว่าบุญบาปไม่มี มารดาบิดาไม่มี ความดีความชั่วไม่มี เป็นต้น

ทิฏฐิข้อนี้ขัดกับหลักพุทธศาสนา เพราะปฏิเสธสมมติสัจจะและคติธรรมดาอันเนื่องด้วยเหตุและผลคือกัมมัสสกตา ผิดจากคติแห่งพุทธศาสนาที่ยอมรับสมมติสัจจะและคติแห่งกัมมัสสกตา

ทิฏฐิทั้ง 3 ประการนี้ จัดเป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิ คือเป็นความเห็นผิดที่ดิ่งลงไป ยากที่จะถ่ายถอนได้ และมีโทษหนักอย่างยิ่ง