เทศนา 2 ประการ (หมวดที่ 2)

เทศนา แปลว่า การแสดง ในที่นี้หมายถึงการแสดงธรรม เป็นเทคนิคในการแสดงธรรมที่พระพุทธเจ้าใช้ในการแสดงธรรมโปรดชาวโลก เพื่อเผยแผ่ธรรมะของพระองค์ให้กว้างขวางออกไป มี 2 แบบ คือ

1. สมมติเทศนา

สมมติเทศนา แปลว่า เทศนาโดยสมมติ หมายถึง การแสดงธรรมตามความหมายที่รู้กัน หรือแสดงธรรมตามที่ตกลงยอมรับร่วมกันของชาวโลก ได้แก่ การแสดงธรรมโดยสำนวนโวหารที่ชาวโลกเขายอมรับร่วมกันหรือรับรู้ร่วมกัน เช่น บุคคล สัตว์ เทวดา กษัตริย์ ผู้ชาย ผู้หญิง เป็นต้น

คือว่าไปตามสมมติของชาวโลกที่ยอมรับร่วมกันและเข้าใจร่วมกัน เพื่อให้บุคคลทั่วไปผู้ยังห่างไกลธรรมะ ฟังแล้วเข้าใจง่าย ไม่เข้าใจยากจนเกินไป เป็นการแสดงธรรมที่เข้าถึงผู้ฟังได้มาก เพราะผู้ฟังส่วนใหญ่เข้าใจสรรพสิ่งที่ชาวโลกบัญญัติขึ้นมาโดยสมมติ ถ้าได้รับการแสดงธรรมแบบสมมติเทศนา ก็จะสามารถเข้าใจได้ง่าย ตามทัน และสามารถบรรลุผลของการฟังธรรมได้ง่าย

2. ปรมัตถเทศนา

ปรมัตถเทศนา แปลว่า เทศนาโดยปรมัตถ์ หมายถึง การแสดงธรรมตามความหมายของสภาวธรรมแท้ ๆ เช่น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ธาตุ ขันธ์ อายตนะ เป็นต้น เป็นการแสดงธรรมตามสภาวะความเป็นจริง อาจจะเข้าใจยากสำหรับผู้ใหม่หรือผู้ที่ยังไม่เคยฟังธรรมะหรือศึกษาธรรมะมาก่อน

การแสดงธรรมแบบปรมัตถเทศนา เหมาะกับผู้ฟังที่ได้ยินได้ฟังมามากแล้ว เคยศึกษาธรรมะมาแล้ว พอมีความรู้เรื่องของธรรมะในระดับหนึ่ง เมื่อได้รับฟังธรรมะแบบปรมัตถเทศนา ก็จะทำให้เข้าใจหัวข้อธรรมนั้น ๆ ได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

การแสดงธรรมทั้ง 2 ลักษณะนี้ พระพุทธเจ้าจะใช้วิธีใด พระองค์จะพิจารณาผู้ฟังเป็นหลัก การแสดงธรรมแบบไหนจะสำเร็จประโยชน์แก่บุคคลประเภทใด พระองค์ก็จะทรงเลือกการแสดงธรรมแบบนั้น ๆ