ทิฏฐธัมมิกัตถะ 4 ประการ

ทิฏฐธัมมิกัตถะ หรือ ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม คือ ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในปัจจุบัน หลักธรรมอันอำนวยประโยชน์สุขในขั้นต้น เป็นหลักปฏิบัติในการสร้างเนื้อสร้างตัว สร้างฐานะที่มั่นคง มี 4 ประการ คือ

1. อุฏฐานสัมปทา

อุฏฐานสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยความหมั่น คือ ขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติหน้าที่การงาน ประกอบอาชีพอันสุจริต ไม่เกียจคร้าน รู้จักใช้ปัญญาสอดส่องตรวจตราหาวิธีในการจัดการกิจการให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี

2. อารักขสัมปทา

อารักขสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยการรักษา คือ รู้จักรักษาทรัพย์สินที่หามาได้จากการทำงาน ไม่ให้สิ้นเปลืองหมดไปด้วยสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ อีกอย่างหนึ่งคือ รู้จักรักษางานหรือผลงานที่ทำด้วยความขยันหมั่นเพียรนั้นไม่ให้เสื่อมเสีย และพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นอยู่เสมอ พูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือ รักษาเงินและรักษางาน

วิธีรักษาทรัพย์มี 5 ประการ คือ

  • ต้องรู้จักเก็บ คือ เก็บรักษาให้ปลอดภัย
  • ต้องรู้จักถนอม คือ ระมัดระวังไม่ให้เสียหายสิ้นเปลือง
  • ต้องรู้จักบูรณะซ่อมแซมของเก่าที่พอใช้ได้ ไม่ทิ้งให้เสื่อมประโยชน์
  • ต้องรู้จักเสียดาย คือ ของบางอย่างที่เลิกใช้แล้ว แต่ยังอาจใช้ในวันข้างหน้าได้ก็ต้องรู้จักเก็บไว้ใช้ อย่าทิ้ง
  • ต้องรู้จักทำให้เกิดผลกำไร คือ การใช้ทรัพย์ที่มีอยู่ให้เกิดผลกำไร เช่น การลงทุนในสิ่งที่ไม่มีความเสี่ยง

3. กัลยาณมิตตตา

กัลยาณมิตตตา ความมีเพื่อนเป็นคนดี คือ ต้องรู้จักเลือกคบคน คบเฉพาะคนที่เป็นคนดี เป็นบัณฑิต สามารถแนะนำชักจูงเราไปในทิศทางที่ดีได้ ไม่คบคนชั่วคนพาลที่จะนำพาเราไปสู่ความเสื่อม

4. สมชีวิตา

สมชีวิตา การเลี้ยงชีพแต่พอสมควร คือ มีความเป็นอยู่เหมาะสม ใช้จ่ายแต่พอดีแก่ฐานะ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่สุรุ่ยสุร่าย รู้จักแบ่งเก็บแบ่งใช้ ไม่ใช้จ่ายเกินตัวนั่นเอง

หลักธรรม 4 ข้อนี้ เป็นหลักธรรมสำหรับการสร้างเนื้อสร้างตัว ถ้าปฏิบัติได้ตามนี้ จะทำให้มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ลำบาก

มีครูบาอาจารย์นำคำขึ้นต้นของหลักธรรม 4 ข้อนี้ มาผูกเป็นคาถา คือ “อุ อา กะ สะ” แล้วเรียกว่า คาถาหัวใจเศรษฐี ซึ่งความจริงแล้วก็คือหลักธรรม 4 ข้อนี้เอง เป็นอุบายให้จดจำหลักธรรมได้ง่าย ให้ศึกษาให้เข้าใจแล้วนำไปเป็นหลักปฏิบัติในการดำรงชีวิตประกอบกิจการงาน ไม่ต้องไปสวดสาธยายให้เสียเวลา