จักร 4 ประการ

จักร แปลว่า วงล้อ หมายถึง ธรรมอันเป็นเหมือนวงล้อที่นำชีวิตไปสู่ความเจริญงอกงาม ดุจล้อรถที่หมุนนำรถไปสู่ที่หมาย มี 4 ประการ คือ

  1. ปฏิรูปเทสวาสะ การอยู่ในประเทศอันเหมาะสม
  2. สัปปุริสูปัสสยะ การคบสัตบุรุษ
  3. อัตตสัมมาปณิธิ การตั้งตนไว้ชอบ
  4. ปุพเพกตปุญญตา ความเป็นผู้ได้ทำบุญไว้ในกาลก่อน

1. ปฏิรูปเทสวาสะ

ปฏิรูปเทสวาสะ การอยู่ในประเทศอันเหมาะสม หมายถึง การอาศัยอยู่ในสถานที่ที่ดี ที่เหมาะสม เป็นสถานที่ที่มีลักษณะที่เอื้อต่อความเจริญงอกงาม 4 ลักษณะ คือ

  • อาวาสสัปปายะ เป็นสถานที่มีสภาพแวดล้อมดี อยู่สบาย
  • ปุคคลสัปปายะ เป็นสถานที่เป็นที่อยู่อาศัยของคนดีมีศีลธรรม คือมากไปด้วยคนดี
  • อาหารสัปปายะ เป็นสถานที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์
  • ธัมมสัปปายะ เป็นสถานที่มีขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีที่ดีงาม และเหมาะแก่การศึกษาธรรมะ

การอาศัยอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสม เช่น สภาพแวดล้อมดี ไม่มีมลพิษ ไม่มีอบายมุข ผู้คนอยู่ในศีลธรรม เป็นสัมมาทิฏฐิ ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ไม่ขาดเขิน มีวัฒนธรรมประเพณีที่ดี มีแหล่งศึกษาธรรมะ มีครูบาอาจารย์คอยแนะนำพร่ำสอนในเรื่องของการศึกษาและการปฏิบัติธรรม ย่อมเอื้อต่อการเป็นอยู่ที่ดี เอื้อต่อการประพฤติธรรม เอื้อต่อความเจริญงอกงามของชีวิตในทุก ๆ ด้าน

2. สัปปุริสูปัสสยะ

สัปปุริสูปัสสยะ การคบสัตบุรุษ คือ การคบหากับบัณฑิตชนคนดี ในสังคมแต่ละสังคม ย่อมมีทั้งคนดีและคนไม่ดีปะปนกันไป เราต้องรู้จักเลือกคบเฉพาะคนดีมีศีลธรรม เป็นบัณฑิตชนคนมีปัญญา สามารถแนะนำเราในทางที่ดีได้

ผู้ที่คบค้าสมาคมกับบัณฑิตชนคนดี จะได้รับอิทธิพลทั้งในด้านความประพฤติและด้านความคิด จะสามารถซึมซับเอากิริยาวาจาและความคิดอ่านที่ดีจากบัณฑิตชนเหล่านั้นได้ และสามารถขอคำแนะนำจากบัณฑิตชนเหล่านั้นได้ เป็นเหตุให้สามารถพัฒนาตนเองให้เป็นบัณฑิตชนคนดีได้ในที่สุด ดังคำที่ว่า “คบคนเช่นใดย่อมเป็นคนเช่นนั้น”

3. อัตตสัมมาปณิธิ

อัตตสัมมาปณิธิ การตั้งตนไว้ชอบ คือ การตั้งตนไว้ในกรอบของศีลธรรม ตั้งใจนำตนไปให้ถูกทาง วางแผนชีวิต ตั้งเป้าหมายชีวิต และดำเนินชีวิต บนพื้นฐานของศีลธรรมอันดีของพุทธศาสนา และอยู่ในกรอบของกฎหมายบ้านเมือง ไม่ประพฤติตนนอกลู่นอกทาง ไม่ละเมิดศีลธรรมและกฎหมาย

การตั้งตนไว้ชอบ เป็นมงคลชีวิตข้อหนึ่งในมงคล 38 ประการ เพราะการตั้งตนไว้ชอบคือดำรงตนอยู่ในหลักศีลธรรมอันดีนั้น ย่อมเอื้อต่อการประกอบสุจริตทุกประการ และกรรมที่เป็นสุจริตเป็นกรรมที่ไร้โทษ มีแต่คุณประโยชน์โดยส่วนเดียว ดังนั้น ผู้ที่ตั้งตนไว้ชอบ จะไม่ได้รับโทษใด ๆ ในการดำรงชีวิต การดำรงชีวิตของเขาจะเป็นไปเพื่อสร้างคุณให้แก่ตนเองและผู้อื่น เป็นไปเพื่อประโยชน์ในโลกนี้ ประโยชน์ในโลกหน้า และประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน

4. ปุพเพกตปุญญตา

ปุพเพกตปุญญตา ความเป็นผู้ได้ทำบุญไว้ในกาลก่อน หรือ ความเป็นผู้ได้ทำดีไว้ก่อน คือ นอกจาก 3 ข้อข้างต้นนั้น ผู้ที่จะเจริญก้าวหน้าได้ ต้องมีบุญหรือความดีที่ได้เคยทำไว้ก่อนแล้ว อาจจะเป็นความดีในชาตินี้ เช่น ได้รับการอบรมมาดี มีการศึกษาดี เคยช่วยเหลือคนอื่นไว้มาก เป็นต้น หรืออาจจะเป็นความดีที่เคยทำไว้ในชาติก่อน ๆ ที่คอยช่วยส่งเสริม คือมีความดีหรือมีบุญเก่าเป็นทุนนั่นเอง

ความเป็นผู้ได้ทำบุญไว้ในกาลก่อนนี้สำคัญ เพราะความเจริญงอกงามความสุขสมหวังในชาตินี้ นอกจากจะอาศัยความเพียรพยายามในปัจจุบันแล้ว ยังต้องอาศัยผลของกรรมอันเป็นบุญในชาติก่อนประกอบด้วย

ถ้ามีบุญที่เคยทำไว้คอยส่งเสริมสนับสนุน การประกอบกิจต่าง ๆ ก็สำเร็จได้ง่าย แต่ถ้าขาดบุญที่เคยทำไว้ในกาลก่อนช่วยสนับสนุนเสียแล้ว กิจการงานทั้งหลายในปัจจุบันชาติ หรือการดำเนินชีวิตในด้านต่าง ๆ อาจมีอุปสรรคเข้ามาขวางเยอะแยะมากมาย จะต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะอย่างแข็งขันจึงจะฝ่าฟันจนสำเร็จได้

ในธรรม 4 ประการนี้ อัตตสัมมาปณิธิ ถือว่าเป็นหลักธรรมที่สำคัญที่สุด เพราะผู้ที่ตั้งตนไว้ดี ดำรงตนบนพื้นฐานของศีลธรรม ย่อมมีโอกาสที่จะเจริญรุ่งเรือง แต่ผู้ที่ตั้งตนไว้ผิดทาง คือทำตัวไม่ดี ย่อมหมดโอกาสที่จะเจริญก้าวหน้า

ธรรมทั้ง 4 ข้อนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พหุการธรรม คือ ธรรมมีอุปการะมาก เพราะเป็นเครื่องช่วยให้สามารถสร้างความดีอื่น ๆ ได้ทุกอย่าง และช่วยให้ประสบความเจริญก้าวหน้าในชีวิต บรรลุความงอกงามไพบูลย์ได้

อย่างไรก็ตาม การนำธรรมทั้ง 4 ข้อนี้ไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิต จะต้องครบถ้วนสมบูรณ์ทั้ง 4 ข้อ จึงจะสามารถเจริญก้าวหน้าได้อย่างเต็มที่ ถ้าขาดข้อใดข้อหนึ่ง ความเจริญก้าวหน้าก็ไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์