อคติ 4 ประการ

อคติ แปลว่า ฐานะอันไม่พึงถึง หมายถึง ทางแห่งความประพฤติที่ผิด ความไม่เที่ยงธรรม ความลำเอียง จัดประเภทตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอคติ เป็น 4 ประการ คือ

1. ฉันทาคติ

ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะชอบ คือ การกระทำการที่ไม่ยุติธรรมเพราะความชอบ เช่น หัวหน้างานยกย่องชมเชยเฉพาะลูกน้องที่ตนเองชอบเป็นการส่วนตัว ขึ้นเงินเดือนให้เฉพาะลูกน้องที่ตัวเองชื่นชอบ โดยไม่คำนึงถึงผลงาน เป็นต้น หรือการกระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องเพราะความชอบส่วนตัว

2. โทสาคติ

โทสาคติ ลำเอียงเพราะชัง คือ การกระทำที่ไม่ยุติธรรมเพราะความชังหรือความโกรธ เช่น หัวหน้างานไม่ขึ้นเงินเดือนให้ลูกน้องที่ตัวเองไม่ชอบ ทั้ง ๆ ที่เขามีผลงานดี เป็นต้น หรือหมายถึงการกระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องเพราะความโกรธหรือความเกลียดส่วนตัว เช่น หัวหน้างานคอยกลั่นแกล้งลูกน้องที่ตนเองเกลียด เป็นต้น

3. โมหาคติ

โมหาคติ ลำเอียงเพราะหลง คือ การกระทำที่ไม่ยุติธรรมเพราะความหลง เช่น ข้าราชการที่มียศมีตำแหน่งสูง แล้วใช้ยศตำแหน่งกดขี่ข่มเหงผู้อื่น เอาเปรียบผู้อื่น เพราะหลงว่าตนเองมียศตำแหน่งใหญ่โต เป็นต้น หรือการกระทำสิ่งที่ผิดเพราะความโง่เขลาเบาปัญญา

4. ภยาคติ

ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว คือ การกระทำที่ไม่ยุติธรรมเพราะความกลัว เช่น ผู้พิพากษาตัดสินคดีให้คนที่กระทำความผิดเป็นฝ่ายชนะ เพราะกลัวต่ออำนาจของเขา หรือเพราะกลัวต่ออำนาจของผู้ที่คอยสนับสนุนเขา เป็นต้น หรือการกระทำสิ่งที่ผิดเพราะความกลัว เช่น กลัวอับอาย กลัวเสียหน้า กลัวโดนทำร้าย เป็นต้น

สังคมเดือดร้อนไม่น่าอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะอคติเป็นตัวการ ทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบกัน ดังนั้น อคติจึงเป็นสิ่งที่ควรละอย่างเด็ดขาด