ใจสั่งมา

อย่ามัวแต่ประมาท อย่ามัวแต่สนิทชิดชอบในกาม เพราะผู้ไม่ประมาท พิจารณาอยู่ ย่อมถึงความสุขอย่างยิ่ง

อย่ามัวแต่ประมาท อย่ามัวแต่สนิทชิดชอบในกาม เพราะผู้ไม่ประมาท พิจารณาอยู่ ย่อมถึงความสุขอย่างยิ่ง

มา ปมาทมนุยุญฺเชถ………….มา กามรติสนฺถวํ
อปฺปมตฺโต หิ ฌายนฺโต………ปปฺโปติ ปรมํ สุขํ.

[คำอ่าน]

มา, ปะ-มา-ทะ-มะ-นุ-ยุน-เช-ถะ….มา, กา-มะ-ระ-ติ-สัน-ถะ-วัง
อับ-ปะ-มัด-โต, หิ, ชา-ยัน-โต…….ปับ-โป-ติ, ปะ-ระ-มัง, สุ-ขัง

[คำแปล]

“อย่ามัวแต่ประมาท อย่ามัวแต่สนิทชิดชอบในกาม เพราะผู้ไม่ประมาท พิจารณาอยู่ ย่อมถึงความสุขอย่างยิ่ง.”

(พุทฺธ) สํ.ส. 15/36.

คำว่า ประมาท แปลว่า ความหลงมัวเมา หมายถึง ความหลงมัวเมาในลาภ หลงมัวเมาในยศ หลงมัวเมาในความสรรเสริญ หลงมัวเมาในความสุข หลงมัวเมาในวัย หลงมัวเมาในอายุ และหลงมัวเมาในชีวิต

ความประมาทหรือความหลงมัวเมาดังกล่าว ถือว่าเป็นสิ่งที่มีโทษร้ายแรง เป็นอุปสรรคหรือเป็นอันตรายต่อธรรมทั้งปวง เป็นสาเหตุที่ทำให้สรรพสัตว์ต้องเวียนว่ายตายเกิดในมหรรณพภพสงสารไม่รู้จบสิ้น

ดังพระดำรัสที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ปมาโท อมตํ ปทํ ความประมาท เป็นหนทางแห่งความตาย” ซึ่งคำว่า ตาย นี้ แปลว่า การไปสู่ภพสาม คือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ ภพใดภพหนึ่ง ความหมายก็คือ ความประมาท เป็นสาเหตุแห่งการเวียนว่ายตายเกิดนั่นเอง

ผู้ที่ประมาท คือหลงมัวเมาอยู่ในสิ่งลวงทั้งหลายในโลก ย่อมมีปกติลุ่มหลงสนิทชิดชอบอยู่ในกามคุณอันน่าใคร่น่าพอใจ หลงยึดติดอยู่โดยคิดว่าเป็นความสุข เป็นสิ่งที่น่าปรารถนา เป็นสิ่งที่ทำความสุขให้บังเกิดแก่ตนได้ เพราะมองไม่เห็นความจริงว่า สิ่งเหล่านั้นทั้งหมด ล้วนตกอยู่ภายใต้กฎพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจตา ทุกขตา อนัตตตา เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงหลงติดอยู่ในสิ่งลวงบ่วงแห่งมารเหล่านั้น ไม่สามารถหลุดออกมาได้

พระพุทธเจ้าทรงสอนเหล่าสาวกของพระองค์ไม่ให้ประมาท คือไม่ให้หลงมัวเมาอยู่ในโลกธรรมและกามคุณทั้งหลาย ไม่ให้หลงมัวเมาในวัย ในอายุ และในชีวิต ไม่ให้ยึดติดสนิทชิดชอบในกาม เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ทำให้เหล่าสรรพสัตว์ต้องเวียนว่ายตายเกิด และต้องประสบกับทุกข์ใหญ่ในสังสารวัฏไม่รู้จบสิ้น

ผู้ที่ได้สดับรับฟังพระสัทธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วพิจารณาไตร่ตรองตาม ย่อมละความประมาทเสียได้ ดำรงตนอยู่ในความไม่ประมาท พิจารณาโลกธรรมและกามคุณทั้งหลายจนเห็นเป็นอนิจจัง คือเป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอน มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และต้องแตกสลายไปในที่สุด เป็นทุกขัง คือเป็นภาวะที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เพราะถูกอนิจจตาบีบคั้นให้แปรปรวนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ทั้งหลาย และเป็นอนัตตา คือไม่มีตัวตน ไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ตามใจได้

เมื่อพิจารณาได้ดังนี้แล้ว ย่อมจะคลายความยินดีในกามคุณทั้งหลายเสียได้ พิจารณาเห็นโทษของกามคุณแล้ว หันมาบำเพ็ญอัปปมาทธรรม ดำรงตนอยู่ในความไม่ประมาท หันมาดำเนินตามวิถีแห่งอริยมรรค อันจะเป็นมรรคาไปสู่ความพ้นทุกข์ ถึงสันติสุขคือพระนิพพาน

เมื่อบุคคลตั้งอยู่ในความไม่ประมาทดังกล่าวแล้ว เร่งศึกษาหลักธรรมคำสอนแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และปฏิบัติตามธรรมสมควรแก่ธรรมด้วยความเพียรอย่างแรงกล้าและตั้งใจจริง ทำด้วยฉันทะ คือทำด้วยความพอใจอย่างแท้จริง ทำด้วยวิริยะ คือทำด้วยความเพียรอย่างแรงกล้า ทำด้วยจิตตะ คือทำด้วยความเอาใจใส่ตั้งใจปฏิบัติ และทำด้วยวิมังสา คือใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ

เมื่อปฏิบัติอยู่เช่นนี้ด้วยความเพียรไม่ย่อหย่อน ไม่ช้าไม่นานย่อมจะประสบผลสำเร็จอันเกิดจากความเพียรนั้น คือได้ลิ้มรสพระสัทธรรมสำเร็จผลอันเป็นที่มุ่งหวังสูงสุดในพระพุทธศาสนา นั่นคือ มรรค ผล และพระนิพพาน

พระนิพพานนี่เอง คือความหมายของคำว่า ความสุขอย่างยิ่ง ในพุทธศาสนาสุภาษิตบทนี้ ดังพระพุทธพจน์ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า นิพพานํ ปรมํ สุขํพระนิพพาน เป็นสุขอย่างยิ่ง

เพราะความสุขอย่างอื่น เป็นความสุขที่ไม่แน่นอน เป็นความสุขที่สามารถกลับมาทุกข์ได้ เป็นความสุขที่เกิดขึ้นมาและตั้งอยู่เพียงชั่วคราว สุดท้ายก็ดับไป

ส่วนพระนิพพานนั้น เป็นความสุขที่เหนือกว่าความสุขอย่างอื่น เป็นความสุขที่ไม่กลับมาทุกข์อีก เป็นความสุขที่ยั่งยืน เพราะเป็นความสุขที่เกิดจากการทำลายกองทุกข์ทั้งปวง และทำลายสาเหตุแห่งกองทุกข์ทั้งหมดแล้ว ดังนั้น พระนิพพานจึงเป็นความสุขอย่างยิ่ง ดังที่กล่าวมา.


สารบัญ พุทธศาสนสุภาษิต


ดูอักษรย่อบอกนามคัมภีร์ได้ที่นี่