กรรมฐาน 2 ประเภท

กรรมฐาน แปลว่า ที่ตั้งแห่งการงาน หรือ อารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งการงาน หมายถึง อุบายวิธีสำหรับการฝึกจิตเพื่อให้เหมาะแก่การงาน ซี่งการงานในที่นี้หมายถึงงานคือการกำจัดกิเลสเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จของงานคือความพ้นทุกข์

กรรมฐาน แบ่งตามวิธีการฝึกออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. สมถกรรมฐาน

สมถกรรมฐาน กรรมฐานเป็นอุบายสงบใจ คือการฝึกจิตโดยการตั้งสติให้อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ลมหายใจ ด้วยการบริกรรมจนจิตสงบนิ่งอยู่กับสิ่งนั้น ไม่ฟุ้งซ่าน จนเกิดเป็นสมาธิตั้งแต่ระดับต่ำจนถึงระดับสูง

เมื่อจิตสงบแนบแน่นจนเกิดเป็นฌาน ก็จะสามารถกำจัดนิวรณ์อันเป็นตัวปิดกั้นคุณงามความดีเสียได้

ผลสูงสุดที่จะได้จากการฝึกสมถกรรมฐานก็คือสมาบัติ 8 ซึ่งถือเป็นผลระดับโลกิยธรรม

2. วิปัสสนากรรมฐาน

วิปัสสนากรรมฐาน กรรมฐานเป็นอุบายเรืองปัญญา เป็นการฝึกจิตให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในสภาวธรรมทั้งปวง เพื่อให้จิตคลายอุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลาย และหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลส

เมื่อฝึกวิปัสสนากรรมฐานจนเกิดปัญญารู้แจ้งในสภาวธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง โดยมาพิจารณาเห็นตามความเป็นจริงว่า สรรพสิ่งล้วนตกอยู่ภายใต้กฎพระไตรลักษณ์ คือ เป็นของไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วดับไป เป็นทุกข์ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น

เมื่อพิจารณาได้ดังนี้ จิตก็จะเกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด ไม่ยึดมั่นถือมั่น และหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสได้ในที่สุด

ผลสูงสุดที่พึงหวังได้จากการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานก็คือ การบรรลุอรหัตตผล สำเร็จเป็นพระอรหันต์ กระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา