เทศนา 2 ประการ (หมวดที่ 1)

เทศนา แปลว่า การแสดง ในที่นี้หมายถึง การแสดงธรรมเพื่อสั่งสอนผู้อื่น เป็นเทคนิคที่พระพุทธเจ้าทรงใช้เพื่อการแสดงธรรมโปรดเหล่าสาวก เป็นเทคนิคเพื่อการแสดงธรรมให้ได้ผล มี 2 แบบ คือ

1. ปุคคลาทิฏฐานา เทศนา

ปุคคลาทิฏฐานา เทศนา แปลว่า การแสดงธรรมโดยการยกบุคคลขึ้นเป็นที่ตั้ง หมายถึง การแสดงธรรมโดยยกเอาบุคคล เหตุการณ์ หรือเรื่องราวสำคัญ ๆ ต่าง ๆ ขึ้นเป็นตัวอย่างประกอบ เพื่อให้ผู้ฟังเห็นภาพ จินตนาการตามได้ เข้าใจในเรื่องนั้น ๆ ได้มากขึ้น และเห็นจริงตามธรรมที่แสดง

เช่น เมื่อพูดถึงเรื่องเมตตา ยกเอาสุวรรณสามดาบสขึ้นมาเป็นตัวอย่าง เมื่อพูดถึงความเพียรพยายาม ยกเอาพระมหาชนกขึ้นมาเป็นตัวอย่าง พูดถึงเรื่องเนกขัมมะ ก็ยกเอาเตมีย์ชาดกมาเป็นตัวอย่าง เป็นต้น จะทำให้ผู้ฟังสามารถจินตนาการตาม และเห็นตัวอย่างที่ชัดเจน ทำให้เข้าใจลึกซึ้ง และซาบซึ้งในธรรมะที่แสดงได้มากขึ้น

2. ธัมมาทิฏฐานา เทศนา

ธัมมาทิฏฐานา เทศนา แปลว่า การแสดงธรรมโดยมีธรรมเป็นที่ตั้ง หมายถึง การแสดงธรรมโดยยกเอาความหมาย คุณลักษณะ สภาวะ หน้าที่ ของหลักธรรมข้อนั้น ๆ ขึ้นอ้าง หรือพูดถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดหลักธรรมข้อนั้น ๆ เช่น เมื่อแสดงธรรมเรื่องขันติ ก็พูดถึงความหมายของขันติว่าคืออะไร ขันติมีคุณลักษณะอย่างไร สภาวะของขันติเป็นอย่างไร หน้าที่ของขันติคืออะไร เป็นต้น

ในการแสดงธรรมนั้น จะใช้วิธีแสดงแบบไหนก็ต้องพิจารณาถึงผู้ฟังเป็นหลัก ถ้าผู้ฟังเป็นประเภทเข้าใจธรรมะได้ยาก ก็คงไม่เหมาะที่จะแสดงธรรมล้วน ๆ การแสดงธรรมแบบบุคคลาทิฏฐานจะเหมาะสมกว่า เพราะจะทำให้ผู้ฟังนั้นเข้าใจได้มากกว่า

แต่ถ้าผู้ฟังเป็นผู้ที่สามารถเข้าใจธรรมะได้ง่าย หรือเคยได้ยินได้ฟังมามาก การแสดงธรรมแบบธัมมาทิฏฐานก็จะทำให้ผู้ฟังคนนั้นเข้าใจหัวข้อธรรมได้ลึกซึ้งแจ่มแจ้ง

อย่างไรก็ตาม ในการแสดงธรรมแต่ละครั้ง ไม่จำเป็นต้องแสดงด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง อาจประยุกต์ใช้ทั้ง 2 วิธีร่วมกันก็ได้ตามความเหมาะสม และเพื่อประโยชน์โดยภาพรวม เพราะในบางครั้ง ต้องแสดงธรรมแก่ผู้ฟังจำนวนมาก แต่ละคนก็มีอุปนิสัยและพื้นฐานที่แตกต่างกัน