พรหมวิหาร 4 ประการ

พรหมวิหาร คือ ธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างประเสริฐ ธรรมประจำใจอันประเสริฐ หลักความประพฤติที่ประเสริฐบริสุทธิ์ เป็นธรรมที่ต้องมีไว้เป็นหลักใจและกำกับความประพฤติ ผู้ที่มีพรหมวิหารธรรมเป็นหลักในการดำเนินชีวิต จะดำเนินชีวิตด้วยความบริสุทธิ์หมดจด และปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายโดยชอบธรรม พรหมวิหาร มี 4 อย่าง คือ

1. เมตตา

เมตตา คือ ความรัก (ความรักที่ปราศจากราคะ) ความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ความปรารถนาอยากให้ผู้อื่นมีความสุขความเจริญ ความคิดอยากจะทำคุณประโยชน์แก่คนรอบข้างเพื่อให้เขามีความสุขความเจริญ

2. กรุณา

กรุณา คือ ความสงสาร ความปรารถนาอยากจะช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ เห็นคนอื่นสัตว์อื่นตกทุกข์ได้ยากแล้วอยากจะช่วยเหลือเขาให้พ้นจากภาวะเช่นนั้น ความมีใจฝักใฝ่ในอันที่จะปลดเปลื้องความทุกข์ยากเดือดร้อนของผู้อื่นสัตว์อื่น

3. มุทิตา

มุทิตา ความพลอยยินดีในเมื่อผู้อื่นได้ดีมีสุข คือเมื่อเห็นผู้อื่นมีความสุขความเจริญ ก็พลอยมีใจแช่มชื่นยินดีไปกับเขาด้วยใจจริง ไม่มีความริษยา ไม่ขุ่นเคืองใจเมื่อคนอื่นได้ดีกว่าตน มีแต่ความแช่มชื่นเบิกบานใจ

4. อุเบกขา

อุเบกขา ความวางเฉย คือ ความวางใจเป็นกลาง อันจะให้ดำรงอยู่ในธรรมตามที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา คือ มีจิตเที่ยงตรงเที่ยงธรรม ไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง พิจารณาเห็นกรรมที่สัตว์ทั้งหลายกระทำแล้ว อันควรได้รับผลดีหรือชั่ว สมควรแก่เหตุอันตนประกอบ พร้อมที่จะวินิจฉัยและปฏิบัติไปตามธรรม รวมทั้งรู้จักวางเฉยสงบใจมองดู ในเมื่อไม่มีกิจที่ควรทำ เพราะเขารับผิดชอบตนได้ดีแล้ว เขาสมควรรับผิดชอบตนเอง หรือเขาควรได้รับผลอันสมกับความรับผิดชอบของตน

ผู้ดำรงในพรหมวิหาร ย่อมช่วยเหลือมนุษย์สัตว์ทั้งหลายด้วยเมตตากรุณา และย่อมรักษาธรรมไว้ได้ด้วยอุเบกขา ดังนั้น แม้จะมีกรุณาที่จะช่วยเหลือปวงสัตว์แต่ก็ต้องมีอุเบกขาด้วยที่จะมิให้เสียธรรม

พรหมวิหาร 4 นี้เรียกอีกอย่างว่า อัปปมัญญา เพราะแผ่สม่ำเสมอโดยทั่วไปในมนุษย์สัตว์ทั้งหลาย ไม่มีประมาณ ไม่จำกัดขอบเขต