ภิกษุยินดีในความไม่ประมาท หรือเห็นภัยในความประมาท ฯลฯ

อปฺปมาทรโต ภิกฺขุ     ปมาเท ภยทสฺสิ วา
อภพฺโพ ปริหานาย     นิพฺพานสฺเสว สนฺติเก.

[คำอ่าน]

อับ-ปะ-มา-ทะ-ระ-โต, พิก-ขุ………..ปะ-มา-เท, พะ-ยะ-ทัด-สิ, วา
อะ-พับ-โพ, ปะ-ริ-หา-นา-ยะ…………นิบ-พา-นัด-เส-วะ, สัน-ติ-เก

[คำแปล]

“ภิกษุยินดีในความไม่ประมาท หรือเห็นภัยในความประมาท เป็นผู้ไม่ควรเพื่อจะเสื่อม (ชื่อว่า) อยู่ใกล้พระนิพพานทีเดียว.”

(พุทฺธ) ขุ.ธ. 25/19.

ธรรมดาชาวโลกทั้งหลาย ย่อมใช้ชีวิตด้วยความประมาทเป็นปกติ คือใช้ชีวิตไปวัน ๆ ไม่เห็นโทษเห็นภัยของการเวียนว่ายตายเกิด ไม่รู้ความจริงของสิ่งทั้งหลายว่าเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา

ชาวโลกทั้งหลายต่างดิ้นรนเพื่อมีชีวิตอยู่รอดในแต่ละวัน ขวนขวายดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนต้องการ สิ่งที่จะอำนวยประโยชน์สุขให้แก่ชีวิตของตน จนกระทั่งลืมไปว่า สิ่งเหล่านั้นสนองความต้องการให้ได้เพียงบางครั้ง สร้างความสุขให้ได้แค่เพียงชั่วคราวเท่านั้น ไม่สามารถสร้างความสุขที่ยั่งยืนได้ และยิ่งไปกว่านั้นคือ ชาวโลกจำนวนมาก ต่างประมาทลุ่มหลงในสิ่งลวงโลกทั้งหลาย ไม่เห็นสิ่งเหล่านั้นตามความเป็นจริง จึงต้องประสบกับความทุกข์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่จบสิ้น

มีคนจำนวนน้อยนัก ที่จะเห็นความไม่เป็นสาระของชีวิต แล้วแสวงหาทางหลุดพ้นด้วยการออกบวชถือบรรพชาแสวงหาทางหลุดพ้น หรือแม้แต่ผู้ที่ก้าวเข้าสู่เส้นทางของบรรพชิตมาแล้วแต่ยังประมาทอยู่ก็มีไม่น้อยทีเดียว นั่นเป็นเพราะสิ่งลวงโลกทั้งหลายล่อลวงให้เป็นไป ทำให้ยังหลงใหลประมาทอยู่

ผู้ที่ถือบรรพชาอุปสมบทเข้ามาเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้ว จำเป็นที่จะต้องศึกษาหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เข้าใจลึกซึ้งทุกภาคส่วน และปฏิบัติให้รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมเหล่านั้น

ต้องเป็นผู้ไม่ประมาทมัวเมา พิจารณาให้เห็นภัยใหญ่อันจะเกิดขึ้นจากความประมาท แล้วละทิ้งความประมาทเสียให้ได้ หันมาปรารภความเพียร บำเพ็ญสมณธรรมอันเป็นหนทางแห่งการกำจัดกิเลสาสวะทั้งหลาย ทำลายกงแห่งวัฏจักรคือการเวียนว่ายตายเกิดเสียให้ได้

เมื่อภิกษุเป็นผู้ยินดีในความไม่ประมาท เห็นภัยในความประมาทได้เช่นนี้ ความเสื่อมทั้งหลายย่อมไม่ควรแก่ภิกษุนั้น และภิกษุนั้นก็ย่อมไม่ควรแก่ความเสื่อมทั้งหลาย บ่ายหน้าสู่ความเจริญงอกงามในบวรพระพุทธศาสนา สามารถทำลายกิเลสตัณหาอันเป็นเชื้อแห่งการเวียนว่ายตายเกิด บรรลุคุณธรรมอันประเสริฐ เข้าถึงพระนิพพานได้ในที่สุด

พุทธภาษิตบทนี้ พระพุทธองค์ทรงมุ่งสอนภิกษุสาวกเป็นหลัก แต่ฆราวาสอย่างเราท่านทั้งหลาย ก็สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ตามสมควร.