ภิกษุผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ มีสติ ไม่ประมาท ละความถือมั่นว่าของเราได้แล้วเที่ยวไป เป็นผู้รู้ พึงละชาติ ชรา โสกะ ปริเทวะ และทุกข์ ในโลกนี้ได้

ภิกษุผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ มีสติ ไม่ประมาท ละความถือมั่นว่าของเราได้แล้วเที่ยวไป เป็นผู้รู้ พึงละชาติ ชรา โสกะ ปริเทวะ และทุกข์ ในโลกนี้ได้

เอวํวิหารี สโต อปฺปมตฺโต
ภิกฺขุ จรํ หิตฺวา มมายิตานิ
ชาติชรํ โสกปริเทวญฺจ
อิเธว วิทฺวา ปชเหยฺย ทุกฺขํ.

[คำอ่าน]

เอ-วัง-วิ-หา-รี, สะ-โต, อับ-ปะ-มัด-โต
พิก-ขุ, จะ-รัง, หิด-ตะ-วา, มะ-มา-ยิ-ตา-นิ
ชา-ติ-ชะ-รัง, โส-กะ-ปะ-ริ-เท-วัน-จะ
อิ-เท-วะ, วิด-ทะ-วา, ปะ-ชะ-ไห-ยะ, ทุก-ขัง

[คำแปล]

“ภิกษุผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ มีสติ ไม่ประมาท ละความถือมั่นว่าของเราได้แล้วเที่ยวไป เป็นผู้รู้ พึงละชาติ ชรา โสกะ ปริเทวะ และทุกข์ ในโลกนี้ได้.”

(พุทฺธ) ขุ.สุ. 25/535., ขุ.จู. 30/92.

คำว่า “ผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่” คือมีความเป็นอยู่โดยธรรม ถ้าเป็นบรรพชิต ก็ใช้ชีวิตบนพื้นฐานของหลักศีลธรรมสำหรับบรรพชิต ไม่ละเมิดสิกขาบท ไม่ก้าวล่วงพระธรรมวินัย จะทำการสิ่งใดก็นึกถึงพระธรรมวินัยเป็นหลัก

ถ้าเป็นฆราวาสผู้ครองเรือน ก็ใช้ชีวิตบนพื้นฐานของกฎหมายและหลักศีลธรรมอันดี ไม่ละเมิดกฎหมายบ้านเมือง ไม่ละเมิดศีล ใช้ชีวิตโดยมีหลักธรรมเป็นเครื่องนำทางและยึดเหนี่ยวจิตใจ เช่นนี้เรียกว่า มีธรรมเป็นเครื่องอยู่

สำหรับผู้ที่อุปสมบทเข้ามาเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนานั้น ยิ่งจำเป็นมากที่จะต้องมีธรรมเป็นเครื่องอยู่ คือเลี้ยงชีวิตโดยธรรม ละเว้นการกระทำอันเป็นทุจริตทั้งปวง เพราะภิกษุเป็นผู้มีชีวิตที่เนื่องด้วยผู้อื่น คือต้องอาศัยอาหารบิณฑบาตจากสาธุชนเพื่อเลี้ยงชีพ ถ้าทำตัวไม่เหมาะสม ไม่ใช้ชีวิตโดยธรรม สาธุชนทั้งหลายย่อมไม่ศรัทธา และไม่ปรารถนาที่จะถวายความอุปถัมภ์ เช่นนี้ภิกษุก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้

อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุต้องทำหน้าที่เป็นผู้เผยแผ่หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าให้สาธุชนทั้งหลายได้ศึกษาและปฏิบัติตาม ดังนั้น ภิกษุต้องเป็นผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ที่ดี ทำตัวเป็นเยี่ยงอย่างให้สาธุชนทั้งหลายได้เห็น หากทำตัวเป็นเยี่ยงอย่างที่ดีไม่ได้เสียแล้ว ย่อมไม่สามารถจะแนะนำพร่ำสอนใครได้เลย

เมื่อภิกษุเป็นผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ที่ดี ดำรงตนอยู่ในหลักศีลธรรม ไม่ละเมิดข้อที่พระพุทธองค์ทรงห้าม และทำตามข้อที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาต มีสติเป็นเครื่องคุ้มครองตน ไม่ประมาทในธรรมทั้งปวง ปฏิบัติสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานอยู่เนืองนิตย์ พยายามพิชิตความยึดมั่นถือมั่นทั้งหลาย บำเพ็ญสมณธรรมเพื่อทำลายกิเลสาสวะทั้งปวง ไม่นานย่อมสามารถเข้าถึงบรมสุขคืออมตะมหานฤพานได้

เมื่อภิกษุบำเพ็ญตนจนเข้าถึงพระนิพพานได้แล้วเช่นนี้ ย่อมสามารถตัดชาติคือการเกิดอันเป็นต้นกำเนิดแห่งทุกข์ทั้งปวงเสียได้ เมื่อไม่ต้องเกิด ความแก่ ความโศกเศร้า ความคร่ำครวญ และความทุกข์ทั้งหลายอันเป็นผลพลอยจากการเกิด ก็ย่อมเป็นอันตัดทิ้งเสียได้โดยสิ้นเชิง.


สารบัญ พุทธศาสนสุภาษิต


ดูอักษรย่อบอกนามคัมภีร์ได้ที่นี่