
อุฏฺฐาเนนปฺปมาเทน…….สญฺญเมน ทเมน จ
ทีปํ กยิราถ เมธาวี……..…ยํ โอโฆ นาภิกีรติ.
[คำอ่าน]
อุด-ถา-เน-นับ-ปะ-มา-เท-นะ……..สัน-ยะ-เม-นะ, ทะ-เม-นะ, จะ
ที-ปัง, กะ-ยิ-รา-ถะ, เม-ทา-วี………..…ยัง, โอ-โค, นา-พิ-กี-ระ-ติ.
[คำแปล]
“คนมีปัญญา พึงสร้างเกาะที่น้ำหลากมาท่วมไม่ได้ ด้วยความหมั่น ความไม่ประมาท ความสำรวม และความข่มใจ.”
(พุทฺธ) ขุ.ธ.มหา. 25/18.
คำว่า “ปัญญา” ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงปัญญาทางโลกอันเกิดจากการศึกษาเล่าเรียนศิลปะวิทยาในการหาเลี้ยงชีวิต แต่หมายถึงปัญญาในทางธรรม มองเห็นความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลาย มองเห็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ความเป็นทุกข์ และความไม่มีตัวตัวตนบังคับบัญชาไม่ได้ของสิ่งทั้งปวง
คำว่า “เกาะ” ก็ไม่ได้หมายถึงเกาะเสม็ดเกาะสมุย หรือเกาะใด ๆ ในโลกใบนี้ คือไม่ได้หมายถึงเกาะทั่ว ๆ ไปนั่นเอง แต่เป็นการเปรียบเทียบ โดยความหมาย หมายเอาพระอรหัตผล
เพราะเกาะโดยทั่วไป เมื่อน้ำขึ้นสูง ย่อมถูกน้ำท่วมได้ตามธรรมชาติ ส่วนเกาะคือพระอรหัตผล น้ำท่วมไม่ได้
และคำว่า “น้ำ” ในที่นี้ ก็ไม่ได้หมายถึงน้ำตามธรรมชาติอีกนั่นแหละ แต่หมายถึงน้ำคือกิเลส อันได้แก่ โอฆะ 4 ประการ คือ กาโมฆะ ห้วงน้ำคือกาม ภโวฆะ ห้วงน้ำคือภพ ทิฏโฐฆะ ห้วงน้ำคือทิฏฐิ และอวิชโชฆะ ห้วงน้ำคืออวิชชา
แต่การที่จะสร้างเกาะคืออรหัตผลได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่วิสัยของคนขี้เกียจ ไม่ใช่วิสัยของคนประมาท และไม่ใช่วิสัยของคนไม่มีความสำรวมระวังและไม่ข่มใจ
การที่จะสร้างเกาะคืออรหัตผลขึ้นมาได้นั้น จะต้องใช้ความหมั่น คือหมั่นในการเจริญสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน อันเป็นหนทางแห่งการเข้าถึงอรหัตผล ด้วยความไม่ประมาท สำรวมอินทรีย์ และความข่มใจไม่ให้เกิดความยินดียินร้ายในอารมณ์ทั้งปวงที่เข้ามากระทบ
เมื่อทำได้ดังนี้ ย่อมสามารถสร้างเกาะคืออรหัตผลอันห้วงน้ำใหญ่คือกิเลสทั้งปวงไม่สามารถท่วมได้ สามารถทำลายเชื้อยางแห่งการเกิดอันเป็นต้นกำเนิดของทุกข์ทั้งปวง กระทำที่สุดแห่งทุกข์ เข้าถึงสุขอันไพบูลย์คือพระนิพพานได้.
สารบัญ พุทธศาสนสุภาษิต
- อัตตวรรค หมวดตน
- อัปปมาทวรรค หมวดความไม่ประมาท
- กัมมวรรค หมวดกรรม
- กิเลสวรรค หมวดกิเลส
- โกธวรรค หมวดความโกรธ
- ขันติวรรค หมวดความอดทน
- จิตตวรรค หมวดจิต
- ชยวรรค หมวดความชนะ
- ทานวรรค หมวดทาน
- ทุกขวรรค หมวดทุกข์
- ธัมมวรรค หมวดธรรม
- ปกิณกวรรค หมวดเบ็ดเตล็ด
- ปัญญาวรรค หมวดปัญญา
- ปมาทวรรค หมวดความประมาท
- ปาปวรรค หมวดบาป
- ปุคคลวรรค หมวดบุคคล
- ปุญญวรรค หมวดบุญ
- มัจจุวรรค หมวดความตาย
- มิตตวรรค หมวดมิตร
- ยาจนาวรรค หมวดการขอ
- ราชวรรค หมวดพระราชา
- วาจาวรรค หมวดวาจา
- วิริยวรรค หมวดความเพียร
- เวรวรรค หมวดเวร
- สัจจวรรค หมวดความสัตย์
- สติวรรค หมวดสติ
- สัทธาวรรค หมวดศรัทธา
- สันตุฏฐิวรรค หมวดสันโดษ
- สมณวรรค หมวดสมณะ
- สามัคคีวรรค หมวดสามัคคี
- สีลวรรค หมวดศีล
- สุขวรรค หมวดความสุข
- เสวนาวรรค หมวดการคบหา