ประโยชน์ทั้งหลาย ย่อมล่วงเลยคนผู้ทอดทิ้งการงาน ฯลฯ

อติสีตํ อติอุณฺหํ     อติสายมิทํ อหุ
อิติ วิสฺสฏฺฐกมฺมนฺเต     อตฺถา อจฺเจนฺติ มาณเว.

[คำอ่าน]

อะ-ติ-สี-ตัง, อะ-ติ-อุน-หัง…..อะ-ติ-สา-ยะ-มิ-ทัง, อะ-หุ
อิ-ติ, วิด-สัด-ถะ-กำ-มัน-เต…..อัด-ถา, อัด-เจน-ติ, มา-นะ-เว

[คำแปล]

“ประโยชน์ทั้งหลาย ย่อมล่วงเลยคนผู้ทอดทิ้งการงาน ด้วยอ้างว่า หนาวนัก ร้อนนัก เย็นเสียแล้ว.”

(พุทฺธ) ที.ปาฏิ. 11/199.

ประโยชน์ คือความสุขความเจริญและผลอันดีทั้งหลายที่เกิดขึ้นจากการประกอบการงานทั้งปวง ทั้งทางโลกและทางธรรม อันไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่น

การงานทางโลก ได้แก่ การประกอบสัมมาชีพ อย่างที่ฆราวาสผู้ครองเรือนทั้งหลายต่างดิ้นรนขวนขวายเพื่อให้ได้มาซึ่งผลตอบแทนอันตนปรารถนา เช่น ยศ ตำแหน่ง ทรัพย์สินเงินทอง ซึ่งเป็นประโยชน์โสตถิผลอันตนปรารถนา เพื่อชื่อเสียงและความอยู่ดีกินดีของตนและครอบครัว

การงานทางธรรม ได้แก่ การปฏิบัติบำเพ็ญสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน อันเป็นไปเพื่อกระทำที่สุดแห่งทุกข์ ถึงสุขอันไพบูลย์คือพระนิพพาน ตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญบารมีมาหลายอสงไขย จนได้ตรัสรู้และนำมาเผยแผ่ให้พวกเราเหล่าสาวกทั้งหลายได้รู้ตามและปฏิบัติตาม

ประโยชน์ทั้งหลายอันจะเกิดขึ้นจากการประกอบการงานทั้งทางโลกและทางธรรมดังกล่าวแล้วนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยความขยันหมั่นเพียรและความอดทน กล่าวคือต้องเอาภารธุระไม่ทอดทิ้ง ประกอบการงานเหล่านั้นอย่างสม่ำเสมอโดยปราศจากความเกียจคร้าน

นอกจากนั้นยังต้องอดทนหนักเอาเบาสู้ ไม่ท้อแท้ถอดใจในขณะที่การงานเหล่านั้นยังไม่สำเร็จบรรลุผล หรือต้องประสบกับอุปสรรคทั้งหลายบรรดาที่จะมีมาขัดขวาง

เมื่อประกอบด้วยวิริยะคือความเพียรและขันติคือความอดทนดังนี้ การงานทั้งทางโลกและทางธรรมจึงจะสัมฤทธิ์ผลก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้นั้นๆ ได้

ส่วนบุคคลผู้ประกอบด้วยความเกียจคร้าน มักมีข้ออ้างในการที่จะละเว้นการประกอบการงานที่ควรประกอบ โดยอ้างว่า หนาวนัก ร้อนนัก เป็นต้น ย่อมไม่มีกำลังใจที่จะประกอบการงาน ผลาญเวลาอันมีค่าให้สูญสิ้นไปโดยเปล่าประโยชน์ เช่นนี้ ชีวิตของเขาย่อมเป็นชีวิตที่สูญเปล่า ไม่สามารถสร้างประโยชน์ใด ๆ ให้เกิดขึ้นได้ ดุจสตรีผู้เป็นหมันไม่สามารถให้กำเนิดบุตรได้ฉะนั้น.