ใจสั่งมา

ผู้ใดประกอบในธรรมวินัยของพระทศพล มีความขวนขวายน้อย ฯลฯ

ปตฺตา เต นิพฺพานํ เย ยุตฺตา     ทสพลสฺส ปาวจเน
อปฺโปสฺสุกฺกา ฆเฏนฺติ     ชาติมรณปฺปหานาย.

[คำอ่าน]

ปัด-ตา, เต, นิบ-พา-นัง, เย, ยุด-ตา…..ทะ-สะ-พะ-ลัด-สะ, ปา-วะ-จะ-เน
อับ-โปด-สุก-กา, คะ-เตน-ติ…..ชา-ติ-มะ-ระ-นับ-ปะ-หา-นา-ยะ

[คำแปล]

“ผู้ใดประกอบในธรรมวินัยของพระทศพล มีความขวนขวายน้อย พากเพียรละความเกิดความตาย ผู้นั้นย่อมบรรลุพระนิพพาน.”

(สุเมธาเถรี) ขุ.เถรี. 26/502.

หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าประกอบด้วยสองส่วน คือ ธรรม ได้แก่ หลักความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้วนำมาสั่งสอนให้สาวกปฏิบัติตาม วินัย คือ กฎระเบียบต่าง ๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เพื่อให้เหล่าสาวกยึดถือปฏิบัติเพื่อป้องกันความเสื่อมเสียด้านอาจาระและควบคุมกาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อยดีงาม ไม่นอกลู่นอกทาง

คำว่า มีความขวนขวายน้อย ในสุภาษิตนี้ หมายถึง การกำจัดตัณหาคือความทะยานอยากทั้ง 3 ประการ คือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา ให้หมดไป และตัดความกังวลในการดำรงชีวิตอย่างชาวโลกทั้งหลายเสีย หันมาดำรงชีวิตเยี่ยงผู้ประพฤติธรรม ละความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง

คำว่า พากเพียรละความเกิดความตาย หมายถึง การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเพื่อทำลายอวิชชา กำจัดกิเลสตัณหาอันเป็นรากเหง้าแห่งการเวียนเกิดเวียนตายในวัฏสงสารเสียให้ได้

บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังกล่าว คือ ดำรงตนอยู่ในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าอย่างเคร่งครัด ละกิเลสตัณหา ปล่อยวางสิ่งอันเป็นเหตุแห่งความกังวลทั้งปวง พากเพียรพยายามปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอย่างจริงจัง ย่อมสามารถบรรุธรรมขั้นสูง เข้าถึงพระนิพพาน ล่วงพ้นการเวียนว่ายตายเกิดได้ในที่สุด.