ใจสั่งมา

คฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเป็นผู้เกียจคร้าน ไม่ดี, บรรพชิตไม่สำรวม ก็ไม่ดี ฯลฯ

อลโส คิหี กามโภคี น สาธุ
อสญฺญโต ปพฺพชิโต น สาธุ
ราชา น สาธุ อนิสมฺมการี
โย ปณฺฑิโต โกธโน ตํ น สาธุ.

[คำอ่าน]

อะ-ละ-โส, คิ-หี, กา-มะ-โพ-คี, นะ, สา-ทุ
อะ-สัน-ยะ-โต, ปับ-พะ-ชิ-โต, นะ, สา-ทุ
รา-ชา, นะ, สา-ทุ, อะ-นิ-สำ-มะ-กา-รี
โย, ปัน-ทิ-โต, โก-ทะ-โน, ตัง, นะ, สา-ทุ

[คำแปล]

“คฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเป็นผู้เกียจคร้าน ไม่ดี, บรรพชิตไม่สำรวม ก็ไม่ดี, พระราชาไม่ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วทำ ไม่ดี, บัณฑิตมักโกรธ ก็ไม่ดี.”

(โพธิสตฺต) ขุ.ชา.วีส. 27/446.

คฤหัสถ์ หมายถึง ผู้ครองเรือน มีหน้าที่ที่จะต้องบริหารชีวิตให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยราบรื่นและมีความสุข ต้องประกอบกิจการงานต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งโภคทรัพย์อันจำเป็นต่อการดำรงชีวิต แสวงหาปัจจัยสี่อันเป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานเพื่อสนับสนุนความเป็นอยู่ของตนเองและผู้คนในความดูแล เช่น บุตร ภรรยา เป็นต้น ดังนั้น ผู้เป็นคฤหัสถ์จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความขยันหมั่นเพียน หนักเอาเบาสู้ ไม่เกียจคร้าน เพราะความเกียจคร้านเป็นภัยใหญ่ต่อความเจริญรุ่งเรือง

บรรพชิต แปลว่า ผู้ละเว้น หมายถึง ผู้ละเว้นจากบาปทั้งหลาย ละเว้นจากการดำรงชีวิตเยี่ยงผู้ครองเรือน อยู่ในฐานะผู้ฝึกตนเพื่อละทุกข์ใหญ่ในวัฏสงสาร ผู้เป็นบรรพชิตต้องสำรวม คือระวังกาย วาจา ใจ ไม่ให้ลุ่มหลงมัวเมาในสิ่งลวงโลกทั้งหลายตามอำนาจกิเลส ไม่ให้เผลอไปทำกรรมอันเป็นบาปอกุศลซึ่งจะเป็นสิ่งขัดกวางการทำกิจของบรรพชิตให้บรรลุเป้าหมาย บรรพชิตผู้ไม่สำรวม ย่อมไม่สามารถกระทำกิจของบรรพชิตให้สำเร็จได้

พระราชา คือ ประมุขของแผ่นดิน มีหน้าที่ปกครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อให้พสกนิกรในแผ่นดินนั้น ๆ มีความสุข มีความเป็นอยู่ที่ดี ดังนั้น การกระทำทั้งปวงของพระราชาต้องผ่านการใคร่ครวญพิจารณามาอย่างรอบคอบ ไม่เช่นนั้น อาจมีผลกระทบต่อแผ่นดินและความเป็นอยู่ของพสกนิกร

บัณฑิต หมายถึง บุคคลผู้มีปัญญา มีประสบการณ์มาก มีความรู้มาก ได้เรียนรู้และได้สดับรับฟังมามาก ได้รับความยอมรับนับถือและยกย่องจากคนทั้งหลาย บุคคลผู้ได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิต พึงรักษาสภาวะของบัณฑิตไว้ มีความสามารถในการควบคุมอารมณ์ ไม่เป็นคนมักโกรธ บุคคลผู้มักโกรธ ย่อมไม่คู่ควรกับคำว่า “บัณฑิต”.