ใจสั่งมา

พึงเป็นคนไม่เบียดเบียน (ผู้อื่น) และกล่าวคำสัตย์อย่างนี้ ฯลฯ

อพฺยาปชฺโฌ สิยา เอวํ     สจฺจวาที จ มาณโว
อสฺมา โลกา ปรํ โลกํ     เอวํ เปจฺจ น โสจติ.

[คำอ่าน]

อับ-พะ-ยา-ปัด-โช, สิ-ยา, เอ-วัง………สัด-จะ-วา-ที, จะ, มา-นะ-โว
อัด-สะ-หมา, โล-กา, ปะ-รัง, โล-กัง…เอ-วัง, เปด-จะ, นะ, โส-จะ-ติ

[คำแปล]

“พึงเป็นคนไม่เบียดเบียน (ผู้อื่น) และกล่าวคำสัตย์อย่างนี้ ละไปจากโลกนี้ไปสู่โลกอื่นแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก.”

(พุทฺธ) ขุ.ชา.มหา. 28/332.

ความไม่เบียดเบียน ถือเป็นปกติภาวะของมนุษย์ คือทำให้มนุษย์ทั้งหลายอยู่ด้วยกันได้อย่างปกติสุข ไม่เดือดร้อน เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์เบียดเบียนกัน เมื่อนั้นความปกติสุขก็หายไป มีความเดือดเนื้อร้อนใจเข้ามาแทนที

ความเบียดเบียนนั้นแบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ

เบียดเบียนทางกาย ได้แก่ การทำร้ายประทุษร้ายกันอันก่อให้เกิดภัยทางกาย เช่น บาดเจ็บ หรือถึงขั้นล้มตาย การเอารัดเอาเปรียบกันเพื่อประโยชน์สุขส่วนตน เป็นต้น

เบียดเบียนทางวาจา ได้แก่ การด่า การใส่ร้ายป้ายสีกัน เป็นต้น ซึ่งก่อให้เกิดความเดือดเนื้อร้อนใจแก่กันและกัน

เบียดเบียนทางใจ ได้แก่ การผูกอาฆาตพยาบาทผู้อื่น การคิดไปในทางที่จะก่อความพินาศแก่ผู้อื่น

คำสัตย์ คือ คำจริง หมายเอาความเป็นคนจริงไจ ไม่โกหกหลอกลวง เป็นคนจริง มีสัจจะ พูดจริง ทำจริง ไม่โกหกปลิ้นปล้อนกะล่อนตอแหล

บุคคลผู้มีลักษณะทั้ง 2 ประการดังกล่าว คือ ไม่เบียดเบียนผู้อื่นอย่างหนึ่ง มีสัจจะอย่างหนึ่ง เมื่อมีชีวิตอยู่ย่อมประสบกับความสุข เป็นที่รักของคนทั้งหลาย เมื่อตายจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมมีสุคติเป็นที่ไปในสัมปรายภพเบื้องหน้า หาความทุกข์ความเศร้าโศกมิได้ เพราะอานิสงส์แห่งสุจริตกรรมคือความไม่เบียดเบียนและความมีสัจจะของตนนั่นเอง.