ใจสั่งมา

กามทั้งหลาย มีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก ทุกข์อันยิ่งกว่ากามไม่มี ฯลฯ

อปฺปสฺสาทา ทุกฺขา กามา     นตฺถิ กามา ปรํ ทุกฺขํ
เย กาเม ปฏิเสวนฺติ     นิรยนฺเต อุปปชฺชเร.

[คำอ่าน]

อับ-ปัด-สา-ทา, ทุก-ขา, กา-มา…..นัด-ถิ, กา-มา, ปะ-รัง, ทุก-ขัง
เย, กา-เม, ปะ-ติ-เส-วัน-ติ……….…นิ-ระ-ยัน-เต, อุ-ปะ-ปัด-ชะ-เร

[คำแปล]

“กามทั้งหลาย มีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก ทุกข์อันยิ่งกว่ากามไม่มี ผู้ใดซ่องเสพกาม ผู้นั้นย่อมเข้าถึงนรก.”

(โพธิสตฺต) ขุ.ชา.เอกาทสก. 27/315.

กาม คือ ความใคร่ ความปรารถนา หรือสิ่งที่น่าใคร่น่าปรารถนา แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

กิเลสกาม แปลว่า กิเลสเป็นเหตุใคร่ ได้แก่ กิเลสที่ก่อให้เกิดความใคร่ความปรารถนา เช่น ราคะ โลภะ อิจฉา เป็นต้น

วัตถุกาม แปลว่า วัตถุอันน่าใคร่ ได้แก่ กามคุณ 5 ประการ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าใคร่น่าพอใจ ทำให้คนทั้งหลายอยากได้อยากครอบครอง

กามทั้งหลายเหล่านั้น ท่านว่ามีความยินดีน้อยแต่มีทุกข์มาก คือก่อให้เกิดความสุขความยินดีได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว หรือชั่วระยะเวลาอันสั้น แต่ก่อทุกข์ให้สิ้นกาลนาน คือบุคคลผู้หลงใหลในกาม ย่อมมีความสุขกับกามเหล่านั้นในช่วงเวลาที่ได้มาครอบครอง เมื่อพลัดลากจากกามเหล่านั้นหรือสูญเสียไป ย่อมเกิดความโศกเศร้าเสียใจพิไรรำพัน นอกจากนี้ บุคคลผู้ติดในกามย่อมไม่สามารถที่จะพ้นไปจากวัฏสงสารได้ ต้องเวียนว่ายตายเกิดประสบกับทุกข์ใหญ่ในสังสารวัฏสิ้นกาลนาน

ที่ว่า “ผู้ใดซ่องเสพกาม ผู้นั้นย่อมเข้าถึงนรก” คือ บุคคลผู้ติดในกาม ย่อมยอมกระทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งกามคุณที่ตนปรารถนา บางครั้งถึงขั้นยอมทำบาปอันหนักเพื่อให้ได้มาซึ่งกามคุณเหล่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ บาปที่บุคคลกระทำเพราะเหตุแห่งกามคุณเหล่านั้นย่อมจะส่งผลให้บุคคลนั้นเข้าถึงนรกในคราวที่ต้องตายจากโลกนี้ไป

ดังนั้น กามทั้งหลายจึงไม่ใช่เหตุแห่งความสุขที่แท้จริง แต่เป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ผู้มีปัญญาทั้งหลายจึงไม่ยินดีในกาม.