ภิกษุพึงสงบกิเลสและบาปธรรมที่เป็นภายในเสีย ฯลฯ

อชฺฌตฺตเมว อุปสเม
นาญฺญโต ภิกฺขุ สนฺติเมเสยฺย
อชฺฌตฺตํ อุปสนฺตสฺส
นตฺถิ อตฺตํ กุโต นิรตฺตํ วา.

[คำอ่าน]

อัด-ชัด-ตะ-เม-วะ, อุ-ปะ-สะ-เม
นาน-ยะ-โต, พิก-ขุ, สัน-ติ-เม-ไส-ยะ
อัด-ชัด-ตัง, อุ-ปะ-สัน-ตัด-สะ
นัด-ถิ, อัด-ตัง, กุ-โต, นิ-รัด-ตัง, วา

[คำแปล]

“ภิกษุพึงสงบกิเลสและบาปธรรมที่เป็นภายในเสีย ไม่พึงแสวงหาความสงบจากที่อื่น เมื่อระงับภายในได้แล้ว สิ่งที่จะพึงยึดถือใหม่ย่อมไม่มี สิ่งที่ยึดถือไว้จำจะสละ จะมีแต่ไหน.”

(พุทฺธ) ขุ.สุ. 25/514, ขุ.มหา. 29/425, 426.

กิเลส แปลว่า สภาวะที่ทำให้จิตเศร้าหมองไม่ผ่องใส ได้แก่ โลภะ ความละโมบอยากได้ โทสะ ความประทุษร้ายแห่งจิต โมหะ ความลุ่มหลงมัวเมาไม่รู้จริง ทั้ง 3 ประการนี้คือกิเลสหมวดใหญ่ ๆ ที่จะต้องกำจัดเสียให้ได้

บาป แปลว่า สภาวะที่ทำให้ตกต่ำ คือทำให้จิตตกต่ำ ตกไปจากคุณงามความดี ตกไปจากคุณธรรมเบื้องสูงทั้งหลายที่พึงได้พึงถึง ตกไปสู่อบายภูมิอันเป็นภูมิที่ต่ำ

ทั้งกิเลสและบาปนี้มีความเกี่ยวเนื่องกัน คือ กิเลสเป็นเหตุให้เกิดบาป คือเมื่อมีกิเลสหรือถูกกิเลสครอบงำ บุคคลก็ทำบาป บาปทั้งหลายทั้งปวงก็มีสาเหตุมาจากกิเลสนั่นเอง

กิเลสและบาปธรรมทั้งหลาย เมื่อเกิดขึ้นก็เกิดที่ภายในจิตใจของคนและสัตว์ทั้งหลายนั่นเอง เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ครอบงำจิตใจของคนและสัตว์ทั้งหลาย บงการให้คนและสัตว์ทั้งหลายนั้นกระทำกรรมอันเป็นบาปตามอำนาจของมัน สุดท้าย ผู้ที่ต้องรับผลของบาปนั้นก็คือคนและสัตว์ผู้กระทำนั่นเอง หาใช่ใครอื่นไม่

เมื่อกิเลสและบาปธรรมเหล่านั้นเกิดขึ้นที่ภายในจิตใจของคนและสัตว์ การที่จะละ กำจัด หรือทำให้กิเลสและบาปธรรมเหล่านั้นสงบลงและสูญสิ้นไปได้ ก็ต้องกระทำที่ภายในจิตใจนี่เอง ไม่ใช่ที่อื่น โดยเริ่มต้นด้วยการรักษาศีลให้ดี อย่าให้ขาด อย่าให้ด่างพร้อย หมั่นศึกษาธรรมะหาความรู้จากผู้รู้ทั้งหลาย สอบถามถึงสิ่งที่เป็นบาปและเป็นบุญ แล้วพยายามละบาปกระทำแต่บุญ

ระดับที่สูงขึ้นไปก็คือการเจริญสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน อันจะเป็นหนทางกำจัดกิเลสและบาปธรรมทั้งหลายให้สูญสิ้นไปอย่างถาวรได้ กล่าวคือ เมื่อต้องการกำจัดกิเลสก็ต้องกำจัดที่จิตใจภายในของตนนี่เอง ไม่ใช่ไปกำจัดที่ภายนอก ชำระจิตใจของตนด้วยการเจริญกรรมฐาน กิเลสทั้งหลายก็จะค่อย ๆ จางลง ๆ และหมดสิ้นไปได้ในที่สุด ตามบุญวาสนาบารมีและความเพียรของบุคคลนั้น ๆ.