น กหาปณวสฺเสน ติตฺติ กาเมสุ วิชฺชติ

น กหาปณวสฺเสน ติตฺติ กาเมสุ วิชฺชติ.

[คำอ่าน : นะ, กะ-หา-ปะ-นะ-วัด-เส-นะ, ติด-ติ, กา-เม-สุ, วิด-ชะ-ติ]

“ความอิ่มในกามทั้งหลาย ย่อมไม่มีเพราะฝนคือกหาปณะ”

(ขุ.ธ. 25/40, ขุ.ชา.ติก. 27/102)

สัตว์โลกทั้งหลายทั้งปวง ย่อมยินดีในกามคุณ ไม่เคยเบื่อหน่ายในกามคุณแม้จะน้อย มีแต่ต้องการเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ไม่ว่าจะได้มามากสักแค่ไหน ก็ไม่เคยพอ มีแต่ต้องการมากขึ้นเรื่อย ๆ

ขึ้นชื่อว่าความอิ่มความพอในกามนั้น เป็นอันไม่มีเลย แม้จะใช้เงินจำนวนมากมาจ้างให้คนอิ่มในกามคุณนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะธรรมดาของสภาพจิตของสัตว์โลกนั้น ย่อมยินดีพอใจในกามคุณอันเป็นที่น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ อยู่ตลอด

มีอยู่หนทางเดียวที่จะทำให้คนอิ่มในกามคุณ ก็คือการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จนสามารถตัดกิเลสตัณหาได้ทั้งหมดแล้วเท่านั้น จึงจะสามารถทำให้บุคคลนั้น ๆ สามารถอิ่มในกามคุณ คือหมดความต้องการ หมดความโหยหากามคุณได้

แต่ก็เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ยากยิ่งนัก เพราะต้องใช้ความเพียรพยายามเป็นอันมาก ในการที่จะปฏิบัติขัดเกลาตนเช่นนั้น เพื่อให้หมดความต้องการโหยหาในกามคุณ ต้องมีจิตใจที่เข้มแข็ง และมีศรัทธาอย่างแรงกล้า จึงจะสามารถทำได้