ใจสั่งมา

ควรงดเว้นบาปเสีย เหมือนพ่อค้ามีพวกน้อย มีทรัพย์มาก ฯลฯ

วาณิโชว ภยํ มคฺคํ     อปฺปสตฺโถ มหทฺธโน
วิสํ ชีวิตุกาโมว     ปาปานิ ปวิวชฺชเย.

[คำอ่าน]

วา-นิ-โช-วะ, พะ-ยัง, มัก-คัง….อับ-ปะ-สัด-โถ, มะ-หัด-ทะ-โน
วิ-สัง, ชี-วิ-ตุ-กา-โม-วะ…………….….ปา-ปา-นิ, ปะ-ริ-วัด-ชะ-เย

[คำแปล]

“ควรงดเว้นบาปเสีย เหมือนพ่อค้ามีพวกน้อย มีทรัพย์มาก เว้นหนทางที่มีภัย และเหมือนผู้รักชีวิต เว้นยาพิษเสีย ฉะนั้น.”

(พุทฺธ) ขุ.ธ. 25/31.

ภัยของชีวิตนั้นมีหลากหลายประเภท ขึ้นอยู่กับบริบทของการดำเนินชีวิต เช่น พ่อค้าที่ต้องขนสินค้าจำนวนมากไปขายยังต่างถิ่นต่างแดน ภัยใหญ่ของพ่อค้าเหล่านั้นก็คือพวกโจรทั้งหลายที่อาจมาคอยดักปล้นสินค้าของเขา หรืออาจทำร้ายเขาจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

ผู้ที่ประกอบอาชีพเป็นพ่อค้าดังกล่าว เมื่อจะขนสินค้าไปขายต่างถิ่น ต้องศึกษาเส้นทางให้ดี เส้นทางไหนเปลี่ยว เสี่ยงต่อการโดนปล้น เขาย่อมหลีกเลี่ยงเส้นทางเช่นนั้นเสีย

อนึ่ง บุคคลทั้งหลายในโลกนี้ย่อมรักตัวกลัวตายด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้น บุคคลเหล่านั้นย่อมหลีกเว้นสิ่งทั้งปวงที่เป็นพิษเป็นภัยต่อชีวิต เช่น จะกินอะไรก็ระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดพิษภัยต่อชีวิตของตน เพื่อให้ตนเองสามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างปลอดภัยนั่นเอง

ภัยอีกอย่างหนึ่งของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายก็คือบาป บาปได้ชื่อว่าเป็นภัย เพราะเป็นสิ่งที่จะสร้างความฉิบหายให้แก่คนและสัตว์ทั้งหลายทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เช่น เมื่อบุคคลกระทำบาปอย่างใดอย่างหนึ่ง โทษอย่างน้อยย่อมได้รับการติเตียนจากคนรอบข้าง สังคมประณาม ถ้าการทำบาปนั้นผิดกฎหมายบ้านเมืองด้วย เขาย่อมถูกลงโทษตามกฎหมาย นี่เป็นภัยในโลกนี้ที่เขาจะได้รับ

นอกจากนี้ เมื่อถึงคราวตาย ตัวบาปนั้นจะนำพาเขาไปสู่ทุคติอบายภูมิเพื่อรับโทษจากการกระทำบาปนั้น นี่เป็นภัยในโลกหน้าของการกระทำบาป

ดังนั้น บุคคลทั้งหลายพึงเว้นเสียให้ห่างไกลจากการทำบาป เพราะบาปนี้ จะนำภัยมาให้ผู้กระทำทั้งในโลกนี้และโลกหน้า.