ใจสั่งมา

สิ่งที่ไม่ได้คิดไว้ ย่อมมีได้ สิ่งที่คิดไว้ ก็เสียหายได้ ฯลฯ

อจินฺติตมฺปิ ภวติ     จินฺติตมฺปิ วินสฺสติ
น หิ จินฺตามยา โภคา     อิตฺถิยา ปุริสสฺส วา.

[คำอ่าน]

อะ-จิน-ติ-ตำ-ปิ, พะ-วะ-ติ………..จิน-ติ-ตำ-ปิ, วิ-นัด-สะ-ติ
นะ, หิ, จิน-ตา-มะ-ยา, โพ-คา….อิด-ถิ-ยา, ปุ-ริ-สัด-สะ, วา

[คำแปล]

“สิ่งที่ไม่ได้คิดไว้ ย่อมมีได้ สิ่งที่คิดไว้ ก็เสียหายได้ โภคะของสตรีหรือบุรุษ ที่สำเร็จได้ด้วยนึกเอา ไม่มีเลย.”

(มหาชนกโพธิสตฺต) ขุ.ชา.มหา. 28/167.

สิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้ เกิดมีขึ้นได้ตามเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งหรือเป็นสาเหตุให้เกิดขึ้น ตามสภาวการณ์ในขณะนั้น ๆ คือเกิดขึ้นตามธรรมชาติอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นด้วยการกระทำของบุคคลอย่างหนึ่ง

เมื่อว่าด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ทุกสิ่งทุกอย่างทุกเรื่องราวย่อมสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ สิ่งที่เราคิดว่าจะเกิดหรือคาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดขึ้น ก็อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ได้ และสิ่งที่เราคิดไว้ว่าจะไม่เกิดหรือไม่อยากให้เกิดขึ้น ก็อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ได้เช่นเดียวกัน ขึ้นอยู่กับว่ามีเหตุปัจจัยที่จะทำให้สิ่งนั้น ๆ เกิดขึ้นหรือไม่ เช่น ฝนตก พายุเข้า น้ำท่วม ไฟป่า เป็นต้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นตามธรรมชาติตามเหตุปัจจัยที่เป็นต้นตอให้มันเกิดขึ้น ไม่ใช่เพราะความนึกคิดของผู้ใดผู้หนึ่ง

เมื่อว่าด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะการกระทำของบุคคล สิ่งทั้งหลายที่บุคคลปรารถนา ย่อมเกิดมีขึ้นได้ด้วยการกระทำ เช่น อยากมีเงินก็ต้องทำงานหาเงิน อยากกินข้าวก็ต้องทำกับข้าว หรือเอาเงินไปซื้อข้าวมากิน ความหมายก็คือ ต้องการสิ่งใดก็ต้องขวนขวายแสวงหาสิ่งนั้น ๆ โดยวิธีที่จะทำให้ได้สิ่งนั้นมา หาใช่เพียงนึกอยากได้ก็จะได้เลยไม่

ท่านกล่าวว่า “โภคะของสตรีหรือบุรุษที่สำเร็จได้ด้วยนึกเอา ไม่มีเลย” ก็หมายความว่า โภคะสมบัติทั้งหลายไม่ได้สำเร็จด้วยการนึกคิด แต่สำเร็จด้วยการใช้ความเพียรพยายามแสวงหา ผู้ใดมัวแต่นั่งใฝ่นอนฝันอยากได้ทรัพย์สินเงินทองโดยไม่ใช้ความเพียรพยายามแสวงหามา ย่อมไม่สามารถทำโภคทรัพย์ให้เกิดขึ้นได้ ส่วนผู้ที่มีความเพียรพยายามแสวงหาโภคทรัพย์ในทางที่ถูกต้อง ย่อมสามารถสร้างโภคทรัพย์ให้เกิดขึ้นได้ด้วยความเพียรพยายามนั้น.