ใจสั่งมา

บุคคลไม่เพลิดเพลินเวทนา ทั้งภายในทั้งภายนอก ฯลฯ

อชฺฌตฺตญฺจ พหิทฺธา จ     เวทนํ นาภินนฺทโต
เอวํสตสฺส จรโต     วิญฺญาณํ อุปรุชฺฌติ.

[คำอ่าน]

อัด-ชัด-ตัน-จะ, พะ-หิด-ทา, จะ……..เว-ทะ-นัง, นา-พิ-นัน-ทะ-โต
เอ-วัง-สะ-ตัด-สะ, จะ-ระ-โต……………..วิน-ยา-นัง, อุ-ปะ-รุด-ชะ-ติ

[คำแปล]

“บุคคลไม่เพลิดเพลินเวทนา ทั้งภายในทั้งภายนอก มีสติดำเนินอยู่อย่างนี้ วิญญาณย่อมดับ.”

(พุทฺธ) ขุ.สุ. 25/547, ขุ.จู. 30/218.

เวทนา แปลว่า ความรู้สึก หรือ การเสวยอารมณ์ แบ่งตามลักษณะของความรู้สึกเป็น 3 อย่าง คือ

สุขเวทนา คือ ความรู้สึกสุข ความรู้สึกสบาย ความรู้สึกสำราญ ไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางใจก็ตาม เช่น ความสบายกาย ความสบายใจ ความสำราญใจ เป็นต้น

ทุกขเวทนา ความรู้สึกทุกข์ ความรู้สึกไม่สบาย ความรู้สึกไม่ดี ทางกายหรือทางใจก็ตาม เช่น ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ เป็นต้น

อทุกขมสุขเวทนา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อุเบกขาเวทนา คือ ความรู้สึกเฉย ๆ จะสุขก็ไม่ใช่ จะทุกข์ก็ไม่ใช่ ไม่รู้สึกสุขแต่ก็ไม่รู้สึกทุกข์ เฉย ๆ ธรรมดา ๆ

บุคคลผู้รู้ทั่วถึงเวทนาทั้ง 3 ประการนี้ตามสภาพความเป็นจริงว่าเป็นไปตามกฎพระไตรลักษณ์ คือเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ บังคับบัญชาไม่ได้ พิจารณาได้ดังนี้แล้ววางใจเป็นกลางในเวทนาเหล่านั้น ไม่หลงเพลิดเพลินไปตามเวทนาเหล่านั้น ย่อมสามารถทำให้วิญญาณอันเป็นส่วนที่รู้แจ้งอารมณ์ทั้งหลายดับไปได้ สามารถหลีกเลี่ยงการทำกรรมอันเป็นบาปตามอำนาจของความรู้สึกได้.