ใจสั่งมา

ผู้ใดระงับบาปน้อยใหญ่ได้โดยประการทั้งปวง ฯลฯ

โย จ สเมติ ปาปานิ     อณุํถูลานิ สพฺพโส
สมิตตฺตา หิ ปาปานํ     สมโณติ ปวุจฺจติ.

[คำอ่าน]

โย, จะ, สะ-เม-ติ, ปา-ปา-นิ….อะ-นุง-ถู-ลา-นิ, สับ-พะ-โส
สะ-มิ-ตัด-ตา, หิ, ปา-ปา-นัง….สะ-มะ-โน-ติ, ปะ-วุด-จะ-ติ

[คำแปล]

“ผู้ใดระงับบาปน้อยใหญ่ได้โดยประการทั้งปวง ท่านเรียกผู้นั้นว่าสมณะ เพราะเป็นผู้ระงับบาปทั้งหลายได้.”

(พุทฺธ) ขุ.ธ. 25/50.

คำว่า สมณะ แปลว่า ผู้สงบ หมายถึง สงบจากบาปทั้งปวง ระงับการทำบาปทั้งปวงได้แล้ว

บุคคลผู้ที่จะสามารถทำตนให้สงบระงับบาปทั้งปวงได้โดยสิ้นเชิงนั้น จะต้องประพฤติตนอยู่ในหลักศีลธรรม หมั่นเจริญวิปัสสนากรรมฐานเพื่อกำจัดกิเลสทั้งปวงออกจากจิตใจ เพราะกิเลสนี่เองที่เป็นสาเหตุแห่งบาปทั้งหลาย

เมื่อบุคคลหมั่นเจริญวิปัสสนากรรมฐาน สามารถกำจัดกิเลสออกจากจิตใจได้ทีละน้อย ย่อมเข้าสู่ความเป็นสมณะได้ทีละน้อยตามลำดับ

เมื่อใดเขาสามารถเข้าถึงอรหัตตผล สามารถกำจัดกิเลสอาสวะได้หมดสิ้นแล้ว เมื่อนั้น เขาย่อมได้ชื่อว่าเป็นสมณะโดยสมบูรณ์ เพราะระงับกิเลสอันเป็นต้นเหตุแห่งบาปทั้งปวงได้อย่างสิ้นเชิงแล้ว เป็นผู้เว้นจากการกระทำบาปทั้งปวงอย่างสิ้นเชิงแล้วนั่นเอง.