ใจสั่งมา

ผู้เข้าใจสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ ฯลฯ

อสาเร สารมติโน     สาเร จาสารทสฺสิโน
เต สารํ นาธิคจฺฉนฺติ     มิจฺฉาสงฺกปฺปโคจรา.

[คำอ่าน]

อะ-สา-เร, สา-ระ-มะ-ติ-โน……..สา-เร, จา-สา-ระ-ทัด-สิ-โน
เต, สา-รัง, นา-ทิ-คัด-ฉัน-ติ…มิด-ฉา-สัง-กับ-ปะ-โค-จะ-รา

[คำแปล]

“ผู้เข้าใจสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ และเห็นสิ่งที่เป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ เขามีความดำริผิดเป็นโคจร จึงไม่ประสบสิ่งที่เป็นสาระ.”

(พุทฺธ) ขุ.ธ. 25/16.

สิ่งที่ไม่เป็นสาระ ได้แก่ มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด มิจฉาสังกัปปะ ความดำริผิด มิจฉาวาจา การเจรจาผิด มิจฉากัมมันตะ การงานที่ผิด มิจฉาอาชีวะ การเลี้ยงชีพที่ผิด มิจฉาวายามะ ความพยายามที่ผิด มิจฉาสติ การระลึกที่ผิด มิจฉาสมาธิ การตั้งจิตไว้ผิด มิจฉาญาณะ ความรู้ผิด และ มิจฉาวิมุตติ การหลุดพ้นที่ผิด รวมความว่า ความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรมทั้งหลาย ชื่อว่า สิ่งที่ไม่เป็นสาระ บุคคลผู้มีความเข้าใจในสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นสาระ ได้ชื่อว่า ผู้เข้าใจสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ

สิ่งที่เป็นสาระ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นที่ถูกต้อง สัมมาสังกัปปะ ความดำริที่ถูกต้อง สัมมาวาจา การเจรจาที่ถูกต้อง สัมมากัมมันตะ การงานที่ถูกต้อง สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง สัมมาวายามะ ความพยายามที่ถูกต้อง สัมมาสติ การระลึกที่ถูกต้อง สัมมาสมาธิ การตั้งตนไว้ถูกต้อง สัมมาญาณะ ความรู้ที่ถูกต้อง และ สัมมาวิมุตติ ความหลุดพ้นที่ถูกต้อง รวมความว่า ความเห็นที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมทั้งหลาย ชื่อว่า สิ่งที่เป็นสาระ บุคคลผู้มีความเห็นในสิ่งเหล่านั้นว่าไม่เป็นสาระ ได้ชื่อว่า เห็นสิ่งที่เป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ

บุคคลผู้มีความเห็นผิดดังกล่าว คือเห็นสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ และเห็นสิ่งที่เป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ ย่อมไม่สามารถประสบกับสิ่งที่เป็นสาระได้ การดำรงชีวิตของเขาย่อมเป็นไปโดยเปล่าประโยชน์ หรืออาจเรียกได้ว่าเกิดมาแล้วเสียชาติเกิด คือเกิดมาแล้วไม่สามารถถือเอาสาระประโยชน์ใด ๆ จากการเกิดได้เลย ชีวิตของเขาย่อมสูญเปล่า.