ใจสั่งมา

พึงนั่งใกล้ผู้เป็นพหูสูต และไม่พึงทำสุตะให้เสื่อม สุตะนั้นเป็นราก ฯลฯ

พหุสฺสุตํ อุปาเสยฺย     สุตญฺจ น วินาสเย
ตํ มูลํ พฺรหฺมจริยสฺส     ตสฺมา ธมฺมธโร สิยา.

[คำอ่าน]

พะ-หุด-สุ-ตัง, อุ-ปา-ไส-ยะ..…สุ-ตัน-จะ, นะ, วิ-นา-สะ-เย
ตัง, มู-ลัง, พรำ-มะ-จะ-ริ-ยัด-สะ..…ตัด-สะ-หมา, ทำ-มะ-ทะ-โร, สิ-ยา

[คำแปล]

“พึงนั่งใกล้ผู้เป็นพหูสูต และไม่พึงทำสุตะให้เสื่อม สุตะนั้นเป็นรากแห่งพรหมจรรย์ เพราะฉะนั้น ควรเป็นผู้ทรงธรรม.”

(อานนฺทเถร) ขุ.เถร. 26/406.

คำว่า “พหูสูต” หมายถึง บุคคลผู้ได้ยินได้ฟังมามาก คือได้ฟังธรรมอันประเสริฐมามาก ได้ศึกษาเล่าเรียนมามาก มีประสบการณ์มาก บุคคลผู้เป็นพหูสูตนี้จัดเป็นผู้มีความรู้ มีประสบการณ์ที่จะแนะนำผู้อื่นในทิศทางที่ดีได้

คำว่า “พึงนั่งใกล้ผู้เป็นพหูสูต” หมายความว่า ให้คบหาสมาคมกับบุคคลผู้เป็นพหูสูต หมั่นเข้าหาท่าน สอบถามธรรมะที่สงสัยไม่กระจ่าง ขอคำแนะนำจากท่านในหลักของการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์

เมื่อได้เข้าหาผู้เป็นพหูสูตและได้สอบถามข้ออรรถข้อธรรมจากท่านแล้ว ก็ไม่พึงทำสุตะให้เสื่อม คือให้พยายามจดจำเอาใจใส่และนำมาขบคิดให้เข้าใจแตกฉานมากขึ้น

การได้ยินได้ฟังจากผู้เป็นพหูสูตนั้นถือว่าเป็นรากฐานของพรหมจรรย์ พระข้ออรรถข้อธรรมที่ได้ยินได้ฟังมานั้น เมื่อนำมาขบคิดพิจารณาให้เข้าใจอย่างกระจ่างแจ้งและปฏิบัติอย่างถูกต้องและเคร่งครัด ย่อมจะเป็นหนทางเข้าถึงความพ้นทุกข์ได้ในที่สุด.