เบญจขันธ์ที่กำหนดรู้แล้ว มีรากขาดตั้งอยู่ ถึงความสิ้นทุกข์แล้ว ฯลฯ

ปญฺจกฺขนฺธา ปริญฺญาตา     ติฏฺฐนฺติ ฉินฺนมูลกา
ทุกฺขกฺขโย อนุปฺปตฺโต     นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว.

[คำอ่าน]

ปัน-จัก-ขัน-ทา, ปะ-ริน-ยา-ตา….ติด-ถัน-ติ, ฉิน-นะ-มู-ละ-กา
ทุก-ขัก-ขะ-โย, อะ-นุบ-ปัด-โต….นัด-ถิ-ทา-นิ, ปุ-นับ-พะ-โว

[คำแปล]

“เบญจขันธ์ที่กำหนดรู้แล้ว มีรากขาดตั้งอยู่ ถึงความสิ้นทุกข์แล้ว ก็ไม่มีภพอีกต่อไป.”

(พฺรหฺมทตฺตเถรี) ขุ.เถรี. 26/334.

เบญจขันธ์ แปลว่า ขันธ์ห้า ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ร่างกายของคนและสัตว์ทั้งหลายประกอบไปด้วยขันธ์ทั้ง 5 ประการนี้

ขันธ์ทั้ง 5 ประการนี้ มีธรรมชาติเป็นไปตามกฎพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ไม่เที่ยงแท้แน่นอน มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทุกขัง คือ เป็นทุกข์ ได้แก่ ไม่สามารถทนอยู่ในสภาพเดิมได้ ต้องถูกบีบคั้นด้วยความเปลี่ยนแปลงและเสื่อมสลายไปในที่สุด อนัตตา คือ ไม่มีตัวตน ไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปตามใจปรารถนาได้

บุคคลทั้งหลายผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจนวิปัสสนาญาณเกิดขึ้น สามารถกำหนดรู้ขันธ์ทั้งห้านั้นตามความเป็นจริงตามหลักพระไตรลักษณ์แล้วตัดอุปาทานเสียได้ไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์เหล่านั้น ย่อมสารถเข้าถึงพระนิพพาน ตัดภพตัดชาติเสียได้ ภพใหม่คือการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏย่อมไม่มีอีกต่อไป.