ใจสั่งมา

กระแสเหล่าใดมีอยู่ในโลก สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้น ฯลฯ

ยานิ โสตานิ โลกสฺมึ     สติ เตสํ นิวารณํ
โสตานํ สํวรํ พฺรูมิ     ปญฺญาเยเต ปิถิยฺยเร.

[คำอ่าน]

ยา-นิ, โส-ตา-นิ, โล-กัด-สะ-หมิง….สะ-ติ, เต-สัง, นิ-วา-ระ-นัง
โส-ตา-นัง, สัง-วะ-รัง, พรู-มิ….ปัน-ยา-เย-เต, ปิ-ถิย-ยะ-เร

[คำแปล]

“กระแสเหล่าใดมีอยู่ในโลก สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้น เรากล่าวว่า สติเป็นเครื่องกั้นกระแส กระแสเหล่านั้นอันบุคคลปิดกั้นได้ด้วยปัญญา.”

(พุทฺธ) ขุ.สุ. 25/530, ขุ.จู. 30/16,20.

คำว่า “กระแส” หมายถึง กระแสแห่งกรรมอันเป็นบาปทั้งหลาย หรือสาเหตุที่ทำให้บุคคลกระทำบาป

บุคคลทั้งหลายในโลกนี้กระทำบาปก็เพราะกิเลสตัณหาเป็นตัวการบงการจิตใจให้กระทำ หากไม่มีกิเลสตัณหาคอยบงการแล้ว บุคคลย่อมไม่กระทำกรรมอันเป็นบาปทั้งหลาย

สติ คือความระลึกได้ หมายถึง ความระลึกได้ว่าตนกำลังทำอะไร สิ่งนั้นเป็นบาปหรือเป็นบุญ รู้เท่าทันการกระทำของตนเอง หรือที่เรียกว่า รู้เท่าทันอารมณ์อันเป็นปัจจุบัน การที่บุคคลรู้เท่าทันอารมณ์ปัจจุบัน ทำให้รู้เท่าทันการกระทำของตนเอง มีความสามารถในการใช้ปัญญาคิดวิเคราะห์การกระทำของตนที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้นว่าเป็นบาปหรือเป็นบุญ และสามารถยับยั้งได้หากพิจารณาเห็นว่ากรรมนั้นเป็นบาป เมื่อมีสติรู้เท่าทันและมีปัญญาพิจารณายับยั้งไว้ไม่กระทำต่อไป บาปย่อมไม่มีโอกาสเกิดขึ้น ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า สติเป็นเครื่องกั้นกระแสแห่งบาปทั้งหลาย

สติและปัญญานี้เป็นของคู่กัน คือเมื่อมีสติรู้เท่าทันการกระทำของตนแล้ว ต้องใช้ปัญญาพิจารณาการกระทำนั้นให้เห็นว่าเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ เป็นบาปหรือเป็นบุญ เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นบุญก็พึงทำต่อไป เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นบาป ก็พึงระงับการกระทำนั้นเสีย.