ผู้มีจิตสงบ มีปัญญาเครื่องรักษาตัว มีสติ เป็นผู้เพ่งพินิจ ฯลฯ

เย สนฺตจิตฺตา นิปกา     สติมนฺโต จ ฌายิโน
สมฺมา ธมฺมํ วิปสฺสนฺติ     กาเมสุ อนเปกฺขิโน.

[คำอ่าน]

เย, สัน-ตะ-จิด-ตา, นิ-ปะ-กา….สะ-ติ-มัน-โต, จะ, ชา-ยิ-โน
สำ-มา, ทำ-มัง, วิ-ปัด-สัน-ติ…..กา-เม-สุ, อะ-นะ-เปก-ขิ-โน

[คำแปล]

“ผู้มีจิตสงบ มีปัญญาเครื่องรักษาตัว มีสติ เป็นผู้เพ่งพินิจ ไม่เยื่อใยในกาม ย่อมเห็นธรรมโดยชอบ.”

(พุทฺธ) ขุ.อิติ. 25/260.

จิต คือสิ่งที่มีธรรมชาตินึกคิดหรือรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ เมื่อจิตรับรู้อารมณ์อยู่เสมอ จึงมักจะฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ต่าง ๆ ที่รับรู้ได้ง่าย ถูกครอบงำโดยอารมณ์ที่รับรู้นั้น ๆ ได้ง่าย จิตจึงไม่สงบ เพราะซัดส่ายฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา

บุคคลผู้มีปัญญา พิจารณาถึงภาวะที่จิตมักฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ต่าง ๆ อยู่เสมอดังนี้แล้ว ใช้สติมาควบคุมจิต พิจารณาอารมณ์ต่าง ๆ ที่มากระทบจิตให้รู้ชัดว่าดีหรือไม่ดี เป็นบาปหรือเป็นบุญ และตามคุ้มครองจิตไม่ให้หลงใหลไปตามอารมณ์ที่เป็นบาป ย่อมสามารถตัดความเยื่อใยในกามได้ทีละน้อยจนหมดไปในที่สุด จิตย่อมสงบจากอารมณ์อันเป็นบาปทั้งหลายได้ทีละน้อย

บุคคลผู้มีจิตสงบดังกล่าว มีปัญญารู้ชัดในอารมณ์ต่าง ๆ ตามความเป็นจริง มีสติรู้เท่าทันอารมณ์ทั้งหลายที่มากระทบจิต เพ่งพินิจอารมณ์ทั้งปวงให้รู้ชัดอย่างกระจ่างแจ้ง ตัดความเยื่อใยในกามได้ทีละน้อย ย่อมสามารถเห็นธรรม เข้าใจสภาวธรรมทั้งปวงตามความเป็นจริงได้ตามลำดับ.