ผู้ใดละธรรมเป็นเหตุให้เนิ่นช้าได้แล้ว ยินดีในธรรม ฯลฯ

โย จ ปปญฺจํ หิตฺวาน
นิปฺปปญฺจปเท รโต
อาราธยิ โส นิพฺพานํ
โยคกฺเขมํ อนุตฺตรํ.

[คำอ่าน]

โย, จะ, ปะ-ปัน-จัง, หิด-ตะ-วา-นะ
นิบ-ปะ-ปัน-จะ-ปะ-เท, ระ-โต
อา-รา-ทะ-ยิ, โส, นิบ-พา-นัง
โย-คัก-เข-มัง, อะ-นุด-ตะ-รัง

[คำแปล]

“ผู้ใดละธรรมเป็นเหตุให้เนิ่นช้าได้แล้ว ยินดีในธรรมที่ไม่มีสิ่งทำให้เนิ่นช้า ผู้นั้นก็บรรลุพระนิพพานอันปราศจากโยคะ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า.”

(สารีปุตฺต) องฺ.ฉกฺก. 22/329.

ธรรมเป็นเหตุเนิ่นช้า หมายถึง กิเลส อันได้แก่ ราคะ โทสะ โมหะ ทิฏฐิ มานะ เป็นต้น กิเลสเหล่านี้ได้ชื่อว่าเป็นเหตุเนิ่นช้า เพราะตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ บุคคลก็ไม่สามารถเข้าถึงพระนิพพานได้ คือกิเลสยังคงอยู่นานเท่าใด การเข้าถึงพระนิพพานอันเป็นเอกันตบรมสุขก็ยืดเยื้อออกไปนานเท่านั้น สังสารวัฏก็ยาวนานเท่านั้นเช่นกัน

บุคคลผู้มีปัญญาทั้งหลาย พิจารณาถึงโทษของกิเลสอันเป็นเหตุให้เกิดความเนิ่นช้าในสังสารวัฏ หันมาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเพื่อกำจัดกิเลสอันเป็นเหตุเนิ่นช้าเหล่านั้นด้วยความเพียรอันแรงกล้า เมื่อบารมีแก่กล้า ย่อมสามารถเข้าถึงพระนิพพานอันเป็นเอกันตบรมสุขไม่มีสุขอื่นยิ่งกว่า ทำลายสังสารวัฏได้อย่างราบคาบ.