น หิ ตํ สุลภํ โหติ สุขํ ทุกฺกฏการินา

น หิ ตํ สุลภํ โหติ สุขํ ทุกฺกฏการินา.

[คำอ่าน : นะ, หิ, ตัง, สุ-ละ-พัง, โห-ติ, สุ-ขัง, ทุก-กะ-ตะ-กา-ริ-นา]

“สุขไม่เป็นผลอันคนทำความชั่วจะได้ง่าย”

(สํ.ส. 15/104)

โดยธรรมดานั้น เมื่อเราทำกรรมดีไว้ เราจะได้ผลดีตอบแทน แต่เมื่อเราทำกรรมชั่วไว้ เราจะได้ผลชั่วตอบแทน ธรรมดาเป็นมาอย่างนี้ เพราะกฏแห่งกรรมจึงเป็นเช่นนั้น

การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งทำกรรมชั่วไว้แล้วจะหวังผลในทิศทางที่ดีนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะกรรมชั่วจะให้ผลดีนั้นไม่มี กรรมทุกอย่างจะให้ผลตามสภาพของมัน คือกรรมดีก็จะให้ผลเป็นสิ่งที่ดี เป็นความสุขความเจริญ และกรรมชั่ว ก็จะให้ผลเป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นความฉิบหายเดือดร้อน

ถึงแม้ว่าเขาทำกรรมชั่วแล้ว บางคราจะยังมีความสุขความเจริญอยู่บ้าง นั่นก็เป็นเพียงเพราะผลบุญเก่าที่เขาได้ทำไว้ในอดีตยังให้ผลอยู่เท่านั้น หาใช่ผลแห่งกรรมชั่วที่ทำใหม่นี้ให้ผลไม่

เมื่อใดที่บุญเก่าอ่อนกำลังลง เมื่อนั้น กรรมชั่วที่เขาทำในกาลต่อมาย่อมจะให้ผล และสร้างความฉิบหายให้เขาเป็นอันมากอย่างแน่นอน.