ภิกษุผู้เห็นโทษในกาม มีความประพฤติประเสริฐ ปราศจากตัณหา มีสติ ฯลฯ

กาเมสุ พฺรหฺมจริยวา     วีตตณฺโห สทา สโต
สงฺขาย นิพฺพุโต ภิกฺขุ     ตสฺส โน สนฺติ อิญฺชิตา.

[คำอ่าน]

กา-เม-สุ, พรำ-มะ-จะ-ริ-ยะ-วา…..วี-ตะ-ตัน-โห, สะ-ทา, สะ-โต
สัง-ขา-ยะ, นิบ-พุ-โต, พิก-ขุ…..ตัด-สะ, โน, สัน-ติ, อิน-ชิ-ตา

[คำแปล]

“ภิกษุผู้เห็นโทษในกาม มีความประพฤติประเสริฐ ปราศจากตัณหา มีสติทุกเมื่อ พิจารณาแล้ว ดับกิเลสแล้ว ย่อมไม่มีความหวั่นไหว.”

(พุทฺธ) ขุ.สุ. 25/531, ขุ.จู. 30/35.

กิเลสตัณหา เป็นสิ่งที่ทำให้จิตของสรรพสัตว์ลุ่มหลงหมกมุ่นมัวเมา หลงยึดติดอยู่ในสิ่งลวงโลกทั้งหลาย มีปัญญามืดบอด ไม่สามารถพิจารณาสรรพสิ่งให้เห็นตามความเป็นจริงได้ หลงเข้าใจผิดว่าสิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งที่สวยงาม เที่ยงแท้แน่นอน สามารถสร้างความสุขให้ตนได้ ทำให้จิตของสรรพสัตว์หวั่นไหวในอารมณ์ต่าง ๆ ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์

ส่วนภิกษุผู้เห็นโทษในกาม คือมองออกอย่างชัดเจนว่ากามทั้งหลายมันเป็นทุกข์ เป็นสาเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นสุขจอมปลอม แต่เป็นทุกข์ที่แท้จริง เป็นสาเหตุให้สรรพสัตว์ต้องเวียนว่ายตายเกิดและประสบทุกข์สิ้นกาลนาน

เมื่อพิจารณาได้ดังนี้แล้ว ก็ประพฤติธรรมตามวิถีแห่งอริยมรรคมีองค์แปด ชื่อว่าเป็นผู้มีความประพฤติประเสริฐ เมื่อท่านมีสติอยู่ทุกเมื่อ หมั่นปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานด้วยความเพียรอันแรงกล้าและศรัทธาที่ตั้งมั่น ย่อมสามารถขจัดกิเลสตัณหาออกจากจิตใจได้ทีละน้อยและหมดไปในที่สุด เมื่อนั้น ท่านดับกิเลสได้แล้ว ย่อมไม่มีความหวั่นไหวต่ออิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์อีกต่อไป.