กษัตริย์ไม่ทรงตั้งอยู่ในธรรม และแพศย์ (คนสามัญ) ไม่อาศัยธรรม ฯลฯ

ขตฺติโย จ อธมฺมฏฺโฐ     เวสฺโส จาธมฺมนิสฺสิโต
เต ปริจฺจชฺชุโก โลเก     อุปปชฺชนฺติ ทุคฺคตึ.

[คำอ่าน]

ขัด-ติ-โย, จะ, อะ-ทำ-มัด-โถ….เวด-โส, จา-ทำ-มะ-นิด-สิ-โต
เต, ปะ-ริด-จัด-ชุ-โก, โล-เก….อุ-ปะ-ปัด-ชัน-ติ, ทุก-คะ-ติง

[คำแปล]

“กษัตริย์ไม่ทรงตั้งอยู่ในธรรม และแพศย์ (คนสามัญ) ไม่อาศัยธรรม ชนทั้ง 2 นั้น ละโลกไปแล้ว ย่อมเข้าถึงทุคติ.”

(โพธิสตฺต) ขุ.ชา.ปญฺจก. 27/175.

ในโลกของเรานี้ คนทั้งหลายมักแบ่งชนชั้นวรรณะ อย่างเช่นในสมัยพุทธกาล ในประเทศอินเดียก็มีการแบ่งชนชั้นวรรณะออกเป็น 4 วรรณะ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ทำให้เกิดการดูถูกเหยียดหยามกัน กีดกันกัน เรารัดเอาเปรียบกัน ต่าง ๆ นานา

ในปัจจุบันนี้คนทั้งหลายก็ยังมีการแบ่งชนชั้นวรรณะ มีชนชั้นสูง ชนชั้นกลาง ชนชั้นต่ำ เป็นต้น ซึ่งก็เป็นสาเหตุให้เกิดการดูหมิ่นดูแคลนกันเช่นกัน

เมื่อว่าตามหลักพุทธศาสนาแล้ว คนทั้งหลายที่เกิดมานั้น ล้วนทำบุญทำบาปมาไม่เหมือนกัน ทำให้เกิดมาแตกต่างกัน ยากดีมีจนต่างกัน ผิวพรรณวรรณะต่างกัน สติปัญญาต่างกัน เป็นต้น

แต่ไม่ว่าจะเป็นคนประเภทไหนก็ตาม เมื่อทำกรรมดี ย่อมได้รับผลของกรรมดีเหมือนกัน ได้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ตามกำลังแห่งกรรมดีนั้นได้เท่า ๆ กัน และเมื่อทำกรรมชั่ว ก็ย่อมได้รับผลของกรรมชั่วเหมือนกัน ต้องเข้าถึงทุคติอบายภูมิตามกำลังแห่งกรรมชั่วนั้นเท่า ๆ กัน

กล่าวโดยสรุปก็คือ การให้ผลของกรรมนั้นไม่มีลำเอียง ไม่มีการแบ่งชนชั้นวรรณะ ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นสูง ชนชั้นกลาง หรือชนชั้นต่ำ ไม่ว่าจะร่ำรวยหรือยากจน ผู้ใดทำกรรมเช่นใดไว้ ย่อมได้รับผลเช่นนั้น ไม่มีการแบ่งชนชั้นในเรื่องการให้ผลของกรรม.