ท่านผู้มีทางไกลอันถึงแล้ว หายโศก หลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวง ฯลฯ

คตทฺธิโน วิโสกสฺส     วิปฺปมุตฺตสฺส สพฺพธิ
สพฺพคนฺถปฺปหีนสฺส     ปริฬาโห น วิชฺชติ.

[คำอ่าน]

คะ-ตัด-ทิ-โน, วิ-โล-กัด-สะ….วิบ-ปะ-มุด-ตัด-สะ, สับ-พะ-ทิ
สับ-พะ-คัน-ถับ-ปะ-หี-นัด-สะ…..ปะ-ริ-ลา-โห, นะ, วิด-ชะ-ติ

[คำแปล]

“ท่านผู้มีทางไกลอันถึงแล้ว หายโศก หลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวง ละกิเลสเครื่องรัดทั้งปวงแล้ว ย่อมไม่มีความเร่าร้อน.”

(พุทฺธ) ขุ.ธ. 25/27.

คำว่า “ทางไกล” หมายถึง การเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ ตั้งแต่อดีตชาติจนถึงปัจจุบันชาติ เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด ต้องทนทุกข์ทรมานกับการเกิด แก่ เจ็บ ตาย อย่างไม่รู้จบสิ้น

คำว่า “มีทางไกลอันถึงแล้ว” หมายถึง การถึงจุดหมายปลายทางอันได้แก่พระนิพพาน ได้แก่ บุคคลผู้มีความเพียรพยายามปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจนสามารถทำลายกิเลสทั้งปวง เข้าถึงพระนิพพานอันเป็นเอกันตบรมสุข เป็นที่ดับทุกข์ทั้งปวงได้ เปรียบเหมือนบุคคลผู้เดินทางไกลแสนไกล สุดท้ายก็ถึงเป้าหมายที่มุ่งหวัง

บุคคลผู้สามารถเข้าถึงฝั่งคือพระนิพพานได้แล้วดังกล่าว ย่อมเป็นผู้หมดทุกข์หมดโศก เพราะไม่เหลือกิเลสตัณหาอันเป็นสาเหตุทำให้จิตใจต้องประสบกับความทุกข์โศกอีกต่อไปแล้ว ท่านเป็นผู้หลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสตัณหาทั้งปวง ย่อมไม่มีความทุกข์ร้อนใด ๆ สามารถเผาผลาญจิตใจให้ร้อนรนได้อีก.