ใจสั่งมา

พึงสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ เมื่อรักษาชีวิตพึงสละอวัยวะ ฯลฯ

จเช ธนํ องฺควรสฺส เหตุ
องฺคํ จเช ชีวิตํ รกฺขมาโน
องฺคํ ธนํ ชีวิตญฺจาปิ สพฺพํ
จเช นโร ธมฺมมนุสฺสรนฺโต.

[คำอ่าน]

จะ-เช, ทะ-นัง, อัง-คะ-วะ-รัด-สะ, เห-ตุ
อัง-คัง, จะ-เช, ชี-วิ-ตัง, รัก-ขะ-มา-โน
อัง-คัง, ทะ-นัง, ชี-วิ-ตัน-จา-ปิ, สับ-พัง
จะ-เช, นะ-โร, ทำ-มะ-มะ-นุด-สะ-รัน-โต

[คำแปล]

“พึงสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ เมื่อรักษาชีวิตพึงสละอวัยวะ เมื่อคำนึงถึงธรรม พึงสละอวัยวะ ทรัพย์ และแม้แต่ชีวิต ทุกอย่าง.”

(โพธิสตฺต) ขุ.ชา.อสีติ. 28/147.

ในชีวิตของคนเรานั้น มีสองส่วนประกอบกันทำให้ดำรงอยู่ได้ คือ จิตใจ และ ร่างกาย ในส่วนของร่างกายนั้น ประกอบด้วยอวัยวะน้อยใหญ่รวมกันเข้าและทำงานร่วมกันจึงทำให้สามารถเคลื่อนไหวทำกิจต่าง ๆ และดำรงอยู่ได้

กล่าวได้ว่า อวัยวะเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของชีวิตคนเรา ดังนั้น มนุษย์จึงควรรักษาอวัยวะทุกส่วนไว้ให้ดี ถึงคราวเจ็บไข้ได้ป่วยหรือเกิดเหตุใด ๆ อันทำให้เป็นอันตรายต่ออวัยวะ พึงยอมสละทรัพย์สินเงินทองเพื่อรักษาไว้ซึ่งอวัยวะเหล่านั้น เพราะอวัยวะสำคัญกว่าทรัพย์สินเงินทอง

แต่ในคราวที่อวัยวะได้รับอันตรายหรือเสียหายจนเป็นภัยต่อชีวิต เช่น เกิดโรคภัยไข้เจ็บบางอย่างขึ้นกับอวัยวะบางส่วน ซึ่งจะเป็นสาเหตุลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ทำให้เป็นอันตรายต่อชีวิต ก็พึงยอมสละอวัยวะส่วนนั้นเพื่อรักษาชีวิตไว้ เพราะชีวิตสำคัญกว่าอวัยวะ

แต่ในชีวิตคนเรานั้น มีอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญยิ่งกว่าทุกอย่าง นั่นก็คือคุณธรรม อันหมายถึงคุณงามความดีทั้งหลายที่มีอยู่ในตัวและที่จะพึงสร้างขึ้นใหม่ได้ คุณธรรมนี้เป็นสิ่งที่สำคัญในหมู่มนุษย์ พึงรักษาไว้และพึงสร้างใหม่ให้เพิ่มพูนยิ่งขึ้น ถ้าขาดคุณธรรมเสียแล้ว ความเป็นมนุษย์ก็ไม่สมบูรณ์ ถึงมีชีวิตอยู่ก็ไม่มีความหมาย เพราะไร้คุณธรรม

ดังนั้น บุคคลพึงยอมสละทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง อวัยวะ หรือแม้กระทั่งชีวิต เพื่อรักษาไว้ซึ่งคุณธรรม.