พึงเป็นผู้พอใจ และประทับใจในพระนิพพานที่บอกไม่ได้ ฯลฯ

ฉนฺทชาโต อนกฺขาเต     มนสา จ ผุโฐ สิยา
กาเม จ อปฏิพทฺธจิตฺโต     อุทฺธํโสโตติ วุจฺจติ.

[คำอ่าน]

ฉัน-ทะ-ชา-โต, อะ-นัก-ขา-เต….มะ-นะ-สา, จะ, ผุ-โถ, สิ-ยา
กา-เม, จะ, อะ-ปะ-ติ-พัด-ทะ-จิด-โต….อุด-ทัง-โส-โต-ติ, วุด-จะ-ติ

[คำแปล]

“พึงเป็นผู้พอใจ และประทับใจในพระนิพพานที่บอกไม่ได้ ผู้มีจิตไม่ติดกาม ท่านเรียกว่า ผู้มีกระแสอยู่เบื้องบน.”

(พุทฺธ) ขุ.ธ. 25/44.

กามคุณห้า คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าใคร่น่าพอใจ เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ทั้งหลายลุ่มหลงติดอยู่ ยินดีพอใจเสาะแสวงหาเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนปรารถนา เมื่อได้มาก็เป็นสุข เมื่อไม่ได้มาหรือเสียไปก็เป็นทุกข์

การยินดีพอใจในกามคุณนั้น เป็นสาเหตุที่ทำให้สัตว์โลกทั้งหลายประสบกับทุกข์ใหญ่ไม่รู้จบสิ้น พระพุทธเจ้าผู้ทรงตรัสรู้ดีตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ทรงเห็นความจริงข้อนี้ จึงทรงสอนเหล่าสาวกทั้งหลายให้คลายความยินดีพอใจในกามคุณ แต่ให้หันมายินดีพอใจในพระนิพพานแทน

พระพุทธเจ้าทรงสอนเหล่าสาวกให้เห็นโทษของกาม ว่ากามทั้งหลายเป็นสุขแค่ชั่วคราว เป็นสุขที่ไม่ถาวร คือสุขแต่เปลือกเท่านั้น แต่มีแก่นเป็นทุกข์ เมื่อทรงชี้ให้เห็นโทษของกามแล้ว ก็ทรงสอนให้ยินดีพอใจในพระนิพพาน ทรงชี้ทางคืออริยมรรคมีองค์ 8 อันเป็นหนทางที่จะสามารถเข้าถึงพระนิพพานได้

พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญพระนิพพานว่าเป็นสุขอย่างยิ่ง เพราะผู้ที่เข้าถึงพระนิพพานได้แล้ว ย่อมสามารถดับกิเลสตัณหาอันเป็นสาเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวงได้ ทำให้จิตไม่ยึดติดในกามทั้งหลาย และทำลายทุกข์ใหญ่ในวัฏสงสารได้อย่างสิ้นเชิง ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏอันยาวนานอีกต่อไป

ดังนั้น พวกเราเหล่าสาวกทั้งหลาย พึงดำเนินตามทางอันประเสริฐคืออริยมรรคมีองค์แปด ยินดีพอใจในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน พยายามเข้าถึงพระนิพพานให้ได้โดยเร็ว อย่ายินดีพอใจในกามคุณเลย.