โลกถูกความอยากผูกมัดไว้ จะหลุดได้เพราะกำจัดความอยาก ฯลฯ

อิจฺฉาย พชฺฌตี โลโก     อิจฺฉาวินยาย มุจฺจติ
อิจฺฉาย วิปฺปหาเนน     สพฺพํ ฉินฺทติ พนฺธนํ.

[คำอ่าน]

อิด-ฉา-ยะ, พัด-ชะ-ตี, โล-โก…..อิด-ฉา-วิ-นะ-ยา-ยะ, มุด-จะ-ติ
อิด-ฉา-ยะ, วิบ-ปะ-หา-เน-นะ…..สับ-พัง, ฉิน-ทะ-ติ, พัน-ทะ-นัง

[คำแปล]

“โลกถูกความอยากผูกมัดไว้ จะหลุดได้เพราะกำจัดความอยาก, เพราะละความอยากเสียได้ จึงชื่อว่าตัดเครื่องผูกทั้งปวงได้.”

(พุทฺธ) สํ.ส. 15/56.

ความอยาก หมายถึง ตัณหา 3 ประการ คือ กามตัณหา ความอยากในกาม ภวตัณหา ความอยากในภพ คือ อยากมีอยากเป็น และ วิภวตัณหา ความอยากในวิภพ คือ อยากไม่มีอยากไม่เป็น หรืออยากหลุดพ้นจากสภาวะบางอย่างที่ไม่ชอบใจ

ความอยากนี้พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นเครื่องผูกสัตว์ไว้ในโลก คือผูกสรรพสัตว์ให้ติดอยู่กับสิ่งหลอกลวงทั้งหลายในโลก ทำให้มีความทะยานอยากในกามคุณ อยากมีอยากเป็น โดยไม่รู้ว่าสิ่งที่อยากเหล่านั้นตกอยู่ภายใต้กฎพระไตรลักษณ์ คือเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน

เพราะความอยากนี่เอง สรรพสัตว์ทั้งหลายจึงติดอยู่ในโลกอันเต็มไปด้วยทุกข์และสิ่งลวงตานี้ สัตว์โลกทั้งหลายดิ้นรนขวนขวายแสวงหาสิ่งทั้งหลายที่ตนปรารถนามาบำรุงปรนเปรอตนเองก็เพราะความอยากหรือตัณหานี่เอง

กามตัณหา ความทะยานอยากในกาม ทำให้คนดิ้นรนแสวงหากามคุณห้าคือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ อันน่าปรารถนาน่าพอใจมาปรนเปรอตน แล้วก็มีความสุขยึดอยู่ในกามคุณนั้น บางครั้งถึงกับแย่งกันเพื่อให้ได้สิ่งนั้น ๆ มาครอบครอง ต้องฆ่ากันบ้าง เบียดเบียนกันต่าง ๆ นานาบ้าง ฉ้อโกงกันบ้าง เพื่อให้ได้กามคุณเหล่านั้นมาครอบครอง เมื่อได้มาแล้วก็ยินดีมีสุขใจ เมื่อไม่ได้สมปรารถนาก็เป็นทุกข์

ภวตัณหา ความทะยานอยากในภพ หรือความอยากมีอยากเป็น ทำให้คนดิ้นรนขวนขวายเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนต้องการ เช่น อยากเป็นข้าราชการ อยากมีเงินทองมาก ๆ เป็นต้น ไม่ว่าจะเหนื่อยยากลำบากแค่ไหนก็ไม่หวั่น ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ขอเพียงให้ได้ซึ่งสิ่งที่ตนต้องการก็พอ เมื่อได้มีได้เป็นก็เป็นสุขใจ เมื่อไม่ได้ดังต้องการก็เป็นทุกข์

วิภวตัณหา ความทะยานอยากในวิภพ คือความไม่อยากมีไม่อยากเป็น หรือความต้องการหลุดพ้นจากสภาวะบางอย่างที่ตนไม่ต้องการ เช่น คนป่วยอยากหายจากโรคภัยไข้เจ็บ นักเรียนอยากเป็นอิสระจากการปกครองของครู เป็นต้น เมื่อสมใจก็เป็นสุข เมื่อไม่สมใจก็เป็นทุกข์

ตัณหาทั้ง 3 ประการนี้ เป็นตัวการสำคัญที่ผูกสัตว์ทั้งหลายไว้ในโลก คือเป็นสาเหตุให้ไม่สามารถเข้าถึงโลกุตรธรรมได้ ต่อเมื่อบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานจนสามารถบรรลุอรหัตผลได้เท่านั้น จึงจะได้ชื่อว่าตัดเครื่องผูกทั้งปวงได้.