ความอยากย่อมชักลากนรชนไป ความอยากละได้ยากในโลก ฯลฯ

อิจฺฉา นรํ ปริกสฺสติ     อิจฺฉา โลกสฺมิ ทุชฺชหา
อิจฺฉาพทฺธา ปุถู สตฺตา     ปาเสน สกุณี ยถา.

[คำอ่าน]

อิด-ฉา, นะ-รัง, ปะ-ริ-กัด-สะ-ติ…..อิด-ฉา, โล-กัด-สะ-มิ, ทุด-ชะ-หา
อิด-ฉา-พัด-ทา, ปุ-ถู, สัด-ตา…..ปา-เส-นะ, สะ-กุ-นี, ยะ-ถา

[คำแปล]

“ความอยากย่อมชักลากนรชนไป ความอยากละได้ยากในโลก สัตว์เป็นอันมากถูกความอยากผูกมัดไว้ ดุจนางนกถูกบ่วงรัดไว้ฉะนั้น.”

(พุทฺธ) สํ.ส. 15/61.

ความอยาก หมายถึง ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น หรือแม้แต่ความอยากไม่มีไม่เป็น หมายเอา ตัณหา 3 ประการ คือ

  1. กามตัณหา ความทะยานอยากในกาม
  2. ภวตัณหา ความทะยานอยากในภพ คือความอยากมีอยากเป็น
  3. วิภวตัณหา ความทะยานอยากในวิภพ คือ ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น

ความอยากคือตัณหาทั้ง 3 ประการนี้แหละที่ชักลากนรชนทั้งหลายไป คือมนุษย์ทั้งหลายย่อมเป็นไปตามอำนาจของตัณหา ดิ้นรนแสวงหาสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่ตนต้องการมารำบุงบำเรอตนก็เพราะตัณหานี่เอง

คนทั้งหลายดิ้นรนแสวงหากามคุณอันเป็นที่น่าปรารถนาน่าพอใจ เช่น แสวงหาสิ่งของสวย ๆ งาม ๆ มาครอบครอง แสวงหาคนหล่อ ๆ สวย ๆ มาเป็นคู่ครอง เป็นต้น ก็เพราะกามตัณหา

คนทั้งหลายดิ้นรนแสวงหาเงินหาทองมาจับจ่ายใช้สอย ดิ้นรนโดยวิธีต่าง ๆ เพื่อให้ตนเองมียศถาบรรดาศักดิ์สูง ๆ มีตำแหน่งสูง ๆ มีเกียรติยศ เพื่อให้ผู้คนยกย่องเชิดชู ก็เพราะภวตัณหา

คนทั้งหลายดิ้นรนโดยวิธีต่าง ๆ นานา เพื่อนำตนให้พ้นจากสถานะบางอย่างที่ไม่น่าปรารถนา เช่น ดิ้นรนทำงานหนักเพราะอยากจะพ้นจากความยากจน เป็นต้น ก็เป็นเพราะวิภวตัณหา

จะเห็นได้ว่า คนทั้งหลายทำสิ่งต่าง ๆ ก็ด้วยอำนาจตัณหาคือความอยากเป็นตัวนำทั้งสิ้น

ตัณหาทั้ง 3 ประการนี้เอง ที่เป็นเหมือนเชือกที่ผูกสรรพสัตว์ไว้ในโลก เป็นสาเหตุให้สรรพสัตว์ไม่สามารถหลุดพ้นจากโลกได้

คนที่ยังมีตัณหา ก็เหมือนนกที่ถูกบ่วงรัด ไม่สามารถบินไปไหนต่อไหนได้ตามใจปรารถนา ทำได้แค่เพียงวนเวียนอยู่ในรัศมีของเชือกนั้นเท่านั้น ไม่สามารถบินหนีไปไกลกว่านั้นได้

คนที่ยังมีตัณหาอยู่ก็เช่นกัน ตราบใดที่ยังมีตัณหาครอบงำจิตใจอยู่ ย่อมไม่สามารถที่จะหนีออกไปจากสังสารวัฏได้ ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ร่ำไป และต้องประสบกับทุกข์ในวัฏสงสารไปตลอด จนกว่าจะบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานจนบรรลุอรหัตผล สามารถทำลายตัณหาทั้งหมดลงได้เท่านั้น จึงจะสามารถหลุดพ้นจากบ่วงอันผูกรัดไว้กับโลกได้.