
อุเปกฺขโก สทา สโต……น โลเก มญฺญตี สมํ
น วิเสสี น นีเจยฺโย….ตสฺส โน สนฺติ อุสฺสทา.
[คำอ่าน]
อุ-เปก-ขะ-โก, สะ-ทา, สะ-โต….นะ, โล-เก, มัน-ยะ-ตี, สะ-มัง
นะ, วิ-เส-สี, นะ, นี-ไจ-โย………ตัด-สะ, โน, สัน-ติ, อุด-สะ-ทา
[คำแปล]
“ผู้วางเฉย มีสติทุกเมื่อ ไม่สำคัญตนว่าเสมอเขา ว่าดีกว่าเขา ว่าต่ำกว่าเขาในโลก ผู้นั้นชื่อว่า ไม่มีกิเลสเครื่องฟูขึ้น.”
(พุทฺธ) ขุ.มหา. 29/289, ขุ.สุ. 25/501.
โดยปกติคนทั้งหลายมักจะมีความสำคัญตน เช่น สำคัญตนว่าดีกว่าคนอื่น สำคัญตนว่าเสมอคนอื่นหรือเท่าเทียมกับคนอื่น หรือแม้แต่สำคัญตนว่าเลวกว่าคนอื่น นั่นเป็นเพราะกิเลสที่ทำให้เป็นเช่นนั้น
แต่ถ้าเรามีอุเบกขาคือความวางเฉย วางใจเป็นกลาง ๆ ในทุกสิ่งทุกอย่าง และมีสติสัมปชัญญะอยู่ทุกเมื่อ ความสำคัญตนจะไม่เกิดขึ้น
คนที่มีอุเบกขาธรรมคุ้มครองจิต มีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ จะไม่มีความสำคัญตนอันเป็นเหตุให้จิตใจฟูหรือห่อเหี่ยว เขาเพียงแค่รู้สถานะนั้น ๆ ตามความเป็นจริงแล้วเนิ่งเสียเท่านั้น
ถึงแม้ตนเองจะอยู่ในสถานะที่สูงส่งหรือดีเด่นกว่าคนอื่น เช่น มียศสูง มีตำแหน่งสูง มีฐานะดีกว่าคนอื่น ก็จะไม่สำคัญตนว่าดีเด่นกว่าคนอื่น แต่จะมีใจเป็นกลาง รู้ว่าทุกอย่างเป็นไปตามเหตุ ตนอยู่ในสถานะที่ดีกว่าคนอื่นก็เพียงแค่รู้ว่าเป็นจริงตามนั้น คือรู้ว่าตนอยู่ในสถานะใดเท่านั้น จะไม่มีความสำคัญตนหรือเย่อหยิ่งจองหองอันเป็นเหตุให้ยกตนข่มคนอื่น
ถึงแม้ตนจะมีสถานะเท่าเทียมกับคนอื่น เช่น มียศเท่าคนอื่น มีตำแหน่งเท่าคนอื่น มีทรัพย์สินเงินทองเท่าคนอื่น ก็จะไม่มีความสำคัญตนอันเป็นเหตุให้ใจฟูหรือหดหู่ เพียงแค่รู้ว่าเป็นเช่นนั้น คือรู้อยู่ ไม่ใช่ไม่รู้ แต่เมื่อรู้แล้วก็เฉยเสีย ไม่คิดปรุงแต่งให้เกิดความสำคัญตน ไม่ตีตนเสมอคนอื่นเพราะกระหยิ่มในใจว่าตนเองก็ดีไม่น้อยกว่าเขา และไม่เสียใจเพราะคิดว่าตนเองดีกว่าเขาไม่ได้ เป็นต้น
หรือถึงแม้จะมีสถานะด้อยกว่าคนอื่น เช่น ยศต่ำกว่าคนอื่น ตำแหน่งต่ำกว่าคนอื่น มีทรัพย์สินเงินทองน้อยกว่าคนอื่น เป็นต้น ก็ไม่สำคัญตนว่าด้อยกว่าคนอื่นอันเป็นเหตุให้จิตใจหดหู่ เพียงแค่รู้ว่าเป็นจริงเช่นนั้นเท่านั้น ไม่คิดปรุงแต่งให้เกิดเป็นความสำคัญตนขึ้นมา
ความสำคัญตนทั้ง 3 ลักษณะนั้น เรียกว่า มานะ หรือที่เราเข้าใจกันในคำทั่วไปว่า ความถือตัว
ความถือตัวนี้เป็นกิเลสประจำตัวมนุษย์ คือมนุษย์ทุกคนมีความถือตัว มีความสำคัญตนว่าเลิศกว่าคนอื่นบ้าง ว่าเสมอคนอื่นบ้าง ว่าด้อยกว่าคนอื่นบ้าง ซึ่งเป็นเหตุให้ใจฟูและห่อเหี่ยว ขึ้นอยู่กับว่าสำคัญตนอย่างไร
คนที่ศึกษาธรรมะให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ ปฏิบัติธรรมให้รู้แจ้งเห็นจริง จนสามารถทำอุเบกขาให้เกิดขึ้นในจิตใจ เป็นผู้วางใจเป็นกลางในสรรพสิ่ง และมีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ จะสามารถละมานะคือความสำคัญตนนี้ได้.
สารบัญ พุทธศาสนสุภาษิต
- อัตตวรรค หมวดตน
- อัปปมาทวรรค หมวดความไม่ประมาท
- กัมมวรรค หมวดกรรม
- กิเลสวรรค หมวดกิเลส
- โกธวรรค หมวดความโกรธ
- ขันติวรรค หมวดความอดทน
- จิตตวรรค หมวดจิต
- ชยวรรค หมวดความชนะ
- ทานวรรค หมวดทาน
- ทุกขวรรค หมวดทุกข์
- ธัมมวรรค หมวดธรรม
- ปกิณกวรรค หมวดเบ็ดเตล็ด
- ปัญญาวรรค หมวดปัญญา
- ปมาทวรรค หมวดความประมาท
- ปาปวรรค หมวดบาป
- ปุคคลวรรค หมวดบุคคล
- ปุญญวรรค หมวดบุญ
- มัจจุวรรค หมวดความตาย
- มิตตวรรค หมวดมิตร
- ยาจนาวรรค หมวดการขอ
- ราชวรรค หมวดพระราชา
- วาจาวรรค หมวดวาจา
- วิริยวรรค หมวดความเพียร
- เวรวรรค หมวดเวร
- สัจจวรรค หมวดความสัตย์
- สติวรรค หมวดสติ
- สัทธาวรรค หมวดศรัทธา
- สันตุฏฐิวรรค หมวดสันโดษ
- สมณวรรค หมวดสมณะ
- สามัคคีวรรค หมวดสามัคคี
- สีลวรรค หมวดศีล
- สุขวรรค หมวดความสุข
- เสวนาวรรค หมวดการคบหา